เปิดทำเนียบแชมป์โลก ONE ชาวไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

Thai champs cover update

นับตั้งแต่ ONE เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2554 โดยเดิมทีใช้ชื่อว่า “วัน ไฟต์ติง แชมเปียนชิพ” หรือ “วัน เอฟซี” และเติบโตอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะ “บ้านแห่งศิลปะการต่อสู้” ซึ่งปัจจุบันมีผู้ชมใน 190 ประเทศทั่วโลก

ที่ผ่านมา ONE สร้างฮีโร่แชมป์โลกมาแล้วหลายคน สำหรับประเทศไทยซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นบ้านเกิดของมวยไทย และเป็นประเทศที่มีแชมป์โลก ONE มาแล้วถึง 14 คน

วันนี้ เราจะพาไปยลโฉมหน้านักสู้ชาวไทยที่สร้างเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจให้แก่คนไทยบนเวทีระดับโลก ONE


แชมป์โลก ONE ชาวไทยคนที่ 1

เดชดำรงค์ ส.อำนวยศิริโชค

อดีตแชมป์โลก ONE รุ่นสตรอว์เวต
(22 พ.ค. 2558 – 27 พ.ค. 2559)

Dejdamrong BK.jpg


“ไอ้ตาดุ” เดชดำรงค์ ส. อำนวยศิริโชค หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ครูรงค์” ยอดมวยไทยในตำนานที่ยังมีชีวิต ครูรงค์คือนักสู้ไทยคนแรกที่สามารถคว้าเข็มขัดแชมป์โลกจากสังเวียน ONE มาครอบครองได้สำเร็จ แถมยังเป็นสายกติกาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ที่นักกีฬาบ้านเรานั้นแทบจะหาตัวเก่ง ๆ ได้ยาก และจวบจนปัจจุบันก็ยังไม่เคยมีนักสู้ไทยคนไหนที่เดินทางไปถึงแชมป์โลกในกีฬาประเภทนี้

หลัง “ครูรงค์” ตัดสินใจอำลาเวทีมวยไทย ก็ผันตัวมาเป็นนักกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน โดยเปิดตัวบนสังเวียนครั้งแรกในปี 2557 และเก็บชัยชนะ 5 ไฟต์รวดติดต่อกัน ก่อนได้ขึ้นชิงแชมป์โลก ONE รุ่นสตรอว์เวต (56.7 กก.) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของรายการ

ไฟต์สำคัญของชีวิต “ครูรงค์” เผชิญหน้ากับคู่ชิงชาวฟิลิปปินส์ “รอย โดลิเกวซ” ในศึก ONE: WARRIOR’S QUEST เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่บ้านหลังที่สองอย่างประเทศสิงคโปร์

เดชดำรงค์ vs รอย (22 พ.ค. 58)


การแข่งขันดำเนินไปจนเกือบจบยกที่ 5 ซึ่งเป็นยกสุดท้าย แต่เกิดอุบัติเหตุทำให้การแข่งขันต้องยุติลง และนำไปสู่การตัดสินด้วยคะแนนจากกรรมการ โดยยอดมวยจอมเก๋าเจ้าตำนาน ซึ่งขณะนั้นอายุ 37 ปี ได้รับการชูมือให้เป็นแชมป์โลก ONE รุ่นสตรอว์เวต คนแรกในประวัติศาสตร์

ครูรงค์ ขึ้นป้องกันตำแหน่งสองครั้งในรอบหนึ่งปี โดยครั้งที่สองจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ในศึก ONE: KINGDOM OF CHAMPIONS กับผู้ท้าชิงระดับตำนานของญี่ปุ่นอย่าง “โนบิตะ” โยชิตากะ นาอิโตะ ไฟต์นั้นคือฝันสลาย ครูรงค์ พ่ายซับมิชชันในท่า rear-naked choke ยกที่ 4 เสียแชมป์โลกในประเทศบ้านเกิดไปอย่างปวดร้าวหัวใจที่สุด

เดชดำรงค์ vs บันหม่า (27 ส.ค.64)


หลังจากที่ เดชดำรงค์ หันไปโฟกัสกับหน้าที่ครูมวยที่ยิมอีโวลฟ์อยู่หลายปี เขาตัดสินใจคืนสังเวียนเพื่อตามฝันที่จะคืนสู่บัลลังก์อีกครั้งในวัย 42 ปี และสามารถคว้าชัยชนะเหนือ “บันหม่า ตั่วจี๋” ที่อายุอ่อนกว่าถึง 18 ปี ด้วยการน็อกเอาต์ในไฟ์แรกที่คืนสังเวียนเมื่อเดือนสิงหาคม 2564

เดชดำรงค์ ได้โอกาสลงแข่งในไฟต์ต่อมากับนักสู้ลูกครึ่งไทย-ออสซี “แดเนียล วิลเลียมส์” แต่สุดท้ายพลาดท่าพ่ายน็อกไป เขาจึงประกาศอำลาสังเวียนในวัย 43 ปี
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565

แชมป์โลก ONE ชาวไทยคนที่ 2

สามเอ ไก่ย่างห้าดาว

อดีตแชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นฟลายเวต
(18 พ.ค. 2561 – 3 พ.ค. 2562)

Sam A BK.jpg


ONE เริ่มมีการจัดแข่งขันกติกามวยไทยครั้งแรกในปี 2561 นักกีฬาไทยถูกจับตามองในฐานะตัวแทนประเทศต้นกำเนิดของกีฬาการต่อสู้แขนงนี้

“สามเอ ไก่ย่างห้าดาว” ซึ่งขณะนั้นผันตัวไปเป็นครูมวยที่ประเทศสิงคโปร์ได้ราว 2 ปี ตัดสินใจหวนคืนสังเวียนผ้าใบอีกครั้งในวัย 34 ปี ด้วยการประเดิมเวทีพร้อมกับอุ่นเครื่องรวมสองไฟต์ ก่อนจะได้ชิงแชมป์โลก

วันที่ 18 พฤษภาคม 2561 สามเอ ขึ้นสังเวียนชิงแชมป์โลกกับนักชกชาวซูรินาม “เซอร์จิโอ วีลเซน” โดยชนะทีเคโอ.ไปในยกที่ 4 คว้าเข็มขัดแชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นฟลายเวต (61.2 กก.) ไปครองเป็นคนแรกของรายการ ที่ประเทศสิงคโปร์ ในศึก ONE: UNSTOPPABLE DREAMS

สามเอ vs เซอร์จิโอ (18 พ.ค. 61)


ต้องยอมรับว่าช่องว่างในการรักษาแชมป์โลกของ สามเอ นั้นทิ้งห่างร่วมปี จนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ในศึก ONE: FOR HONOR เขาต้องเผชิญหน้ากับนักชกหนุ่มฟอร์มจัดจ้านจากแดนผู้ดี “โจนาธาน แฮ็กเกอร์ตี” ที่มากระชากเข็มขัดไปอย่างบอบช้ำ ด้วยคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย

แชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นสตรอว์เวต
(6 ธ.ค. 62 – ก.พ.64)

หลังจาก “สามเอ” เสียแชมป์โลก ช่วงนั้น ONE ได้มีการเปิดรุ่นน้ำหนักใหม่ที่เล็กลง สามเอ จึงตัดสินใจลดลงมาชกในรุ่นสตรอว์เวต (56.7 กก.) ซึ่งเป็นพิกัดธรรมชาติ โดยชิมลางเปิดศึกในกติกามวยไทยในพิกัดใหม่ เมื่อเดือนตุลาคม 2562  ก่อนที่จะได้รับโอกาสให้ชิงแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นสตรอว์เวต กับนักชกแดนมังกรจอมซ่า “หวัง จึงกวง” ในศึก ONE: MARK OF GREATNESS เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

สามเอ vs หวัง (6 ธ.ค. 62)


ปรากฏว่า “สามเอ” คว้าชัยอย่างเป็นเอกฉันท์ และขึ้นนั่งบัลลังก์แชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นสตรอว์เวต เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของ ONE และยังถือเป็นครั้งแรกที่ “สามเอ” หันมาชกในกติกาคิกบ็อกซิ่งอีกด้วย

นับจากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน “สามเอ” ยังครองเข็มขัดเส้นนี้อยู่ จนกระทั่งเขาประกาศอำลาสังเวียนในวัย 38 ปี เมื่อเดือน ก.พ.65

อดีตแชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นสตรอว์เวต
(28 ก.พ. 63 – 30 ก.ค.64)

หลังนั่งบัลลังก์แชมป์โลกคิกบ็อกซิ่ง “สามเอ” ยังไม่หยุดความสำเร็จเพียงเท่านี้ เจ้าตัวสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการชิงแชมป์โลกในกติกามวยไทยรุ่นเดียวกัน ซึ่งเป็นกติกาที่เขาถนัดและคลุกคลีมาเป็นระยะเวลาร่วม 30 ปี

งานนี้ “สามเอ” เจอคู่ชิงหนุ่มชาวออสซี “ร็อกกี อ็อกเดน” ซึ่งอายุน้อยกว่า 16 ปี แต่ความสดไม่ใช่ปัญหา สามเอ ใช้ความเก๋าพาเข้าเส้นชัยนำลิ่ว ในศึก ONE: KING OF THE JUNGLE เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ที่สิงคโปร์ ส่งให้ “สามเอ” กลายเป็นแชมป์โลกสองประเภทกีฬาชายคนแรกของ ONE

สามเอ vs ร็อกกี (28 ก.พ. 63)


จากนั้น “สามเอ” ขึ้นสังเวียนป้องกันตำแหน่งครั้งแรกจากนักชกแดนจิงโจ้ “จอช ทอนนา” โดยวาดลวดลายเจ้าตำนานอย่างสมดีกรี ด้วยการคว้าชัยชนะแบบทีเคโอ.ในยกที่ 2 เมื่อ 9 ตุลาคม 2563 ในศึก ONE: REIGN OF DYNASTIES

หลังจากห่างเวทีไป 8 เดือน “สามเอ” ในวัย 37 ปี หวนคืนสังเวียนเพื่อป้องกันตำแหน่งครั้งที่สอง กับมวยยอดฝีมือรุ่นน้องที่กำลังมาแรง “พระจันทร์ฉาย พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม” ที่ได้สิทธิ์เป็นผู้ท้าชิงตั้งแต่ไฟต์เปิดตัว และถูกกระชากเข็มชัดไปในท้ายที่สุดในศึก ONE: BATTLEGROUND เมื่อ 30 ก.ค.64

แชมป์โลก ONE ชาวไทยคนที่ 3

แสตมป์ แฟร์เท็กซ์

อดีตแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นอะตอมเวต
(6 ต.ค. 61 – 28 ก.พ. 63)

Stamp hero 1200x1165 1


การปรากฏตัวครั้งแรกของนักมวยสาวจากจังหวัดระยอง “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” ซึ่งมีพื้นฐานมวยไทยตั้งแต่วัย 5 ขวบ มาประเดิมศึกคิกบ็อกซิ่ง รุ่นอะตอมเวต (52.2 กก.) ที่ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี เมื่อ 6 ตุลาคม 2561

เธอไม่ทำให้กองเชียร์ชาวไทยผิดหวัง หลังเอาชนะคะแนนแชมป์เก่า “ไค่ ถิง ฉวง” จากจีน-ไทเป ด้วยคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ นั่งบัลลังก์แชมป์โลก ONE ตั้งแต่ไฟต์แรกที่ย่างเท้าเข้ามา

แสตมป์ vs ไค่ ถิง ฉวง (6 ต.ค. 61) 


กว่าจะได้ป้องกันแชมป์เส้นนี้ แสตมป์ ก็ไปลงสนามในกติกามวยไทย และการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) นานนับปี กระทั่งคู่ปรับเก่าอย่าง “เจเน็ต ท็อดด์” ซึ่งเคยเปิดศึกกันมาก่อนในนัดชิงแชมป์โลก ONE มวยไทย กลับมาขอท้าชิงในกติกาคิกบ็อกซิ่ง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ในศึก ONE: KING OF THE JUNGLE ที่สิงคโปร์ และ แสตมป์ ถูกกระชากเข็มขัดไปอย่างสุดสะเทือนใจ



อดีตแชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นอะตอมเวต
(22 ก.พ. 62 – 28 ส.ค. 63)

หลังจาก “แสตมป์”คว้าเข็มขัดแชมป์โลกคิกบ็อกซิ่ง จาก ไค่ ถิง ฉวง มาได้ เธอก็เดินหน้าคว้าเข็มขัดเส้นที่สองในกติกามวยไทย ซึ่งเป็นการฝากรอยแค้นไว้ให้ “เจเน็ต ท็อดด์” ลูกครึ่งอเมริกัน-ญี่ปุ่น ไว้ดูต่างหน้า ในศึก ONE: CALL TO GREATNESS เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่เซี่ยงไฮ้ พร้อมกับส่งให้ แสตมป์ กลายเป็นแชมป์โลกสองประเภทกีฬาหญิงคนแรกและคนเดียวของโลกทันที

แสตมป์ vs เจเน็ต (22 ก.พ. 62) 


กระทั่งวันที่ 28 สิงหาคม 2563 นักชกสาวแซมบาหน้าใหม่ “อัลลิเซีย เฮลเลน รอดริเกส” กลายเป็นม้ามืดกระชากเข็มขัดแชมป์โลก ONE มวยไทยที่ แสตมป์ ครองอยู่ หลังจากทั้งคู่ฟาดปากกันจนครบ 5 ยก และผู้ท้าชิงซิวชนะคะแนนเสียงข้างมาก (ชนะ 2 เสมอ 1) หักปากกาเซียนระนาว

แชมป์เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ รุ่นอะตอมเวตหญิง

(3 ธ.ค. 64 – ปัจจุบัน)

หลังจาก “แสตมป์” ประสบความสำเร็จในกีฬามวยไทยและคิกบ็อกซิ่ง เธอก็ออกไล่ล่าความฝันในการคว้าเข็มขัดแชมป์เส้นที่ 3 ในกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) และทำผลงานยอดเยี่ยมเข้าตากรรมการจนได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 8 สาวแกร่งในศึกการต่อสู้แบบผสมผสานหญิงล้วนครั้งประวัติศาสตร์ “เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ รุ่นอะตอมเวต”

แสตมป์ vs ริตู (3 ธ.ค.64)


“แสตมป์” ฝ่าด่านแรกจากคู่อริเก่าชาวยูเครน “อาลีโอนา ราสซิโฮนา” ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศและสามารถปราบคู่ต่อสู้จากบราซิล “จูลี เมซาบาร์บา” ทะลุผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศมาเจอกับนักปล้ำสาวแกร่งจากอินเดีย “ริโต ฟูกาต” โดยในรอบชิงฯ แสตมป์ เป็นฝ่ายโชว์สกิลในเกมนอนอย่างยอดเยี่ยมโดยจัดซับมิชชันคู่ต่อสู้ด้วยท่าอาร์มบาร์ คว้าเข็มขัดแชมป์เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ เส้นที่ 4 ของ ONE พร้อมสร้างประวัติศาสตร์เป็นแชมป์ MMA หญิงคนแรกของไทย


แชมป์โลก ONE MMA รุ่นอะตอมเวต

(30 ก.ย. 66 – ปัจจุบัน)

หลังจากประสบความสำเร็จในบันไดขั้นแรกของการต่อสู้แบบผสมผสาน ด้วยการคว้าเข็มขัด ONE MMA เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ รุ่นอะตอมเวตหญิง มาคาดเอวได้สำเร็จ “แสตมป์” ก็ได้เดินหน้าตามล่าเข็มขัดแชมป์โลกเส้นที่ 3 เพื่อหวังสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาคนแรกของ ONE ที่ได้ครองแชมป์โลกถึง 3 กติกา ซึ่งเธอได้โอกาสขึ้นชิงบัลลังก์ครั้งแรกกับ  “แองเจลา ลี” ราชินี MMA หญิงในขณะนั้น แต่ความฝันของเธอต้องพังทลายเมื่อตกเป็นฝ่ายพ่ายซับมิชชันไปในยกที่สอง เมื่อ 26 มีนาคม 2565


แสตมป์ vs ซอ ฮี (30 ก.ย.66)


กระทั่งวันที่ 30 กันยายน 2566 “แสตมป์” ได้โอกาสขึ้นชิงเข็มขัดเส้นนี้อีกครั้ง โดยเป็นการชิงตำแหน่งที่ว่างลงเนื่องจาก “แองเจลา” ประกาศแขวนนวม ครั้งนี้ “แสตมป์” ต้องเผชิญหน้ากับ “ฮาม ซอ ฮี” สาวมากประสบกาณ์จากเกาหลีใต้ ซึ่งการต่อสู้ในครั้งนี้เป็นทางฝ่าย “แสตมป์” ที่อาศัยลูกหนักของอาวุธเข้าเล่นงานคู่ชก จนกระทั่งยก 3 ก็ถึงคราอวสานของ “ซอ ฮี” เมื่อ “แสตมป์” ได้จังหวะกระทุ้งหมัดเข้าท้องเต็ม ๆ จนสาวกิมจิถอยกรูดเสียอาการ ก่อนที่ “แสตมป์” จะปรี่เข้าไปปิดบัญชีอย่างเด็ดขาดและได้ขึ้นนั่งบัลลังก์แชมป์โลก ONE MMA รุ่นอะตอมเวตหญิง สมใจ พร้อมกับเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่เป็นนักกีฬาคนแรกและคนเดียวในโลกกีฬาการต่อสู้ที่คว้าแชมป์โลกได้ถึง 3 กติกา


แชมป์โลก ONE ชาวไทยคนที่ 4

น้องโอ๋ ไก่ย่างห้าดาว

แชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นแบนตัมเวต
(16 ก.พ. 62 – 22 เม.ย.66)

Nong O_Gaiyanghadao hero 1200x1165 champion.jpg


“น้องโอ๋ ไก่ย่างห้าดาว” เจ้าตำนานมวยไทยจากสกลนคร เป็นครูมวยอีกคนจากยิมอีโวลฟ์ ประเทศสิงคโปร์ ที่เดินตามรอยความสำเร็จของรุ่นพี่ “เดชดำรงค์” และ “สามเอ” มาติดๆ

หลังจากร้างสังเวียนมวยไทยไปกว่าสองปี น้องโอ๋ กลับมาเคาะสนิมบนเวที วัน แชมเปียนชิพ สองไฟต์ และได้ขึ้นชิงแชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นแบนตัมเวต (65.8 กก.) กับนักมวยชาวจีน “หาน ซือ หาว” ที่มาฝึกมวยที่เมืองไทยนับ 10 ปี ในศึก ONE: CLASH OF LEGENDS เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2562 ที่อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี โดยนักชกไทยคว้าชัยไปอย่างเป็นเอกฉันท์

น้องโอ๋ vs หาน ซือ หาว (16 ก.พ. 62)


หลังจากนั่งบัลลังก์แชมป์โลก “น้องโอ๋” ก็ทำหน้าที่ผู้รักษาเข็มขัดเส้นนี้ไว้ได้อย่างเหนียวแน่นถึง 7 ครั้ง ซึ่งรวมถึงการป้องกันตำแหน่งครั้งล่าสุดกับผู้ท้าชิงอันดับ 2 “อลาเวอร์ดี รามาซานอฟ” ประกาศความยิ่งใหญ่ในฐานะ “ราชันฆ่าไม่ตาย” ครองบัลลังก์แต่เพียงผู้เดียวยาวนานถึง 4 ปี


น้องโอ๋ vs อลาเวอร์ดี (20 ม.ค.66)


แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อ “น้องโอ๋” พลาดท่าให้กับหมัดของผู้ท้าชิงรายที่ 8 จากแดนผู้ดี “โจนาธาน แฮ็กเกอร์ตี” ร่วงเสียสองนับ ก่อนจะฝืนยืนต้านไม่ไหว พ่ายน็อกไปในยกแรก ชนิดที่ช็อกผู้ชมทั่วโลก หยุดสถิติราชันผู้ไร้พ่าย ในศึก ONE FIGHT NIGHT 9 เมื่อ 22 เม.ย.66 ที่สนามมวยเวทีลุมพินี


น้องโอ๋ vs แฮ็กเกอร์ตี (22 เม.ย.66)


แชมป์โลก ONE ชาวไทยคนที่ 5

เพชรดำ เพชรยินดีอะคาเดมี

อดีตแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นฟลายเวต
(10 พ.ค. 62 – 16 ส.ค. 62)

Petchdam.jpg


นักมวยจอมเอนเตอร์เทนต์ผู้สร้างสีสันบนสังเวียน แถมสร้างผลงานดีเยี่ยมทั้งในกติกามวยไทยและคิกบ็อกซิ่งต่อเนื่อง 3 ไฟต์ จึงส่งให้ได้ขึ้นชิงแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นฟลายเวต (61.2 กก.) กับคู่ชิงจอมโหดจากแอลจีเรีย “อีเลียส มาห์มูดี” ในศึก ONE: WARRIORS OF LIGHT เมื่อ 10 พฤษภาคม 2562 ที่อิมแพ็ค อารีนา

ในระหว่างการแข่งขันยกที่ 5 ซึ่งเป็นยกสุดท้าย เกิดอุบัติเหตุสาหัสทำให้กรรมการตัดสินใจยุติการแข่งขัน และใช้วิธีรวบรวมคะแนน โดยผลการพิจารณาจากกรรมการทั้งสามเห็นพ้องต้องกันให้ เพชรดำ เป็นฝ่ายชนะการตัดสินทางเทคนิค ท่ามกลางเสียงเฮจากกองเชียร์ชาวไทยลั่นสนาม

เพชรดำ vs อีเลียส (10 พ.ค. 62)


“เพชรดำ” นอนกอดเข็มขัดเส้นนี้ได้เพียง 3 เดือน เมื่อการมาเยือนของคิกบ็อกซิ่งหนุ่มดีกรีแชมป์โลกคิกบ็อกซิ่ง 6 สมัย “อิเลียส เอ็นนาฮาชิ” ชาวดัตช์-โมร็อกโก เดินทางมาถึงประเทศไทย เมื่อ 16 สิงหาคม 2562 ในศึก ONE: DREAMS OF GOLD เพื่อตั้งใจกระชากเข็มขัดเส้นนี้ และทำได้สำเร็จเด็ดขาด ด้วยการน็อกเอาต์แชมป์โลกชาวไทยในยกที่ 3 แฟน ๆ ทั้งสนามถึงกับเงียบกริบ

แชมป์โลก ONE ชาวไทยคนที่ 6

รถถัง จิตรเมืองนนท์

แชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นฟลายเวต
(2 ส.ค. 62 – ปัจจุบัน)

Rodtang_Jitmuangnon hero 1200x1165 champ.jpg


นักมวยหนุ่มมาแรงแห่งยุคคงไม่มีใครเกิน “รถถัง จิตรเมืองนนท์” หลังทดลองสนาม ONE ไป 4 ไฟต์ จึงได้โอกาสขึ้นชิงบัลลังก์ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ “สามเอ ไก่ย่างห้าดาว” เสียแชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นฟลายเวต (61.2 กก.) ให้กับ “โจนาธาน แฮ็กเกอร์ตี”

รถถัง อาสากระชากเข็มขัดเส้นนี้กลับมาในศึก ONE: DAWN OF HEROES ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ 2 สิงหาคม 2562 โดยกำชัยชนะด้วยคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์

รถถัง vs โจนาธาน (ภาคแรก) 2 ส.ค. 62


หลังจากนั้น รถถัง ก็ป้องกันตำแหน่งได้ถึง 3 ครั้งจาก วอลเตอร์ กอนซาลเวส (บราซิล), อดีตแชมป์โลก โจนาธาน ที่กลับมาทวงเข็มขัดแต่ไม่สำเร็จ และล่าสุดกับ เพชรดำ เพชรยินดีอะคาเดมี

“รถถัง” กลับมาประจำตำแหน่งทำหน้าที่ป้องกันแชมป์โลกครั้งที่ 4 หลังห่างบัลลังก์ไปราว 2 ปี โดยต้อนรับแชมป์โลกรุ่นเล็ก “โจเซฟ ลาซิรี” ราชันมวยไทย รุ่นสตรอว์เวต (115-125 ป.) ที่อาจหาญขึ้นมาท้าชิงเข็มขัดรุ่นใหญ่ในศึก ONE FIGHT NIGHT 4 เมื่อ พ.ย.65 แต่ “รถถัง” ก็ยังรั้งเข็มขัดไว้อย่างเหนียวแน่น


รถถัง vs โจเซฟ (19 พ.ย.65)


ต่อมาในศึกใหญ่เปิดตัว ONE ในสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อ ONE FIGHT NIGHT 10 “รถถัง” ได้ขึ้นป้องกันเข็มขัดครั้งที่ 5 กับ “เอ็ดการ์ ทาบาเรส” ผู้ท้าชิงหน้าใหม่มวยอันตรายจากเม็กซิโก และเป็นฝ่าย “รถถัง” ที่สับศอกน็อกคู่แข่งโชว์แฟนมวยชาวมะกัน ครองบัลลังก์ต่อเป็นสมัยที่ 6 พร้อมกับเพิ่มสถิติไร้พ่ายใน ONE เป็น 14 ไฟต์


รถถัง vs เอ็ดการ์ (6 พ.ค.66)


แชมป์โลก ONE ชาวไทยคนที่ 7

เพชรมรกต เพชรยินดีอะคาเดมี

แชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นเฟเธอร์เวต
(7 ก.พ. 63 – 29 ก.ย.65)

Petchmorakot hero 1200x1165 champion.jpg


หนึ่งในนักมวยไทยที่ผ่านสังเวียน ONE มาอย่างโชกโชน ต้องมีชื่อของ “เพชรมรกต เพชรยินดีอะคาเดมี” ด้วยน้ำหนักรุ่นเฟเธอร์เวต (70.3 กก.) มีคู่ชกให้ประกบด้วยมากมาย แถม “เพชรมรกต” ยังกล้าปรับตัวมาชกในกติกาคิกบ็อกซิ่ง ชิมลางอยู่ 3 ไฟต์ แต่สุดท้ายก็กลับมาสู่กติกามวยไทยที่ถนัด เพราะสามารถงัดเข่าและศอกที่เป็นอาวุธเด็ดออกมาใช้ได้

กว่าจะได้ขึ้นชิงแชมป์โลก “เพชรมรกต” ก็ผ่านการเดินทางมาถึงไฟต์ที่ 8 แต่คู่ต่อกรที่ถูกประกบคู่ไว้ก่อนอย่าง “จามาล ยูซูพอฟ” เกิดล้มป่วยกะทันหัน จนนึกว่าไฟต์นี้จะกลายเป็นหมัน แต่สองวันสุดท้ายก็ได้ “พงษ์ศิริ พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม” กระโดดเข้ามาเป็นนักมวยขัดตาทัพ ในฐานะมวยคู่เอกและเป็นคู่ชิงแชมป์โลกของศึก ONE: WARRIOR’S CODE เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กรุงจาการ์ตา

เพชรมรกต vs พงษ์ศิริ (7 ก.พ. 63)


แน่นอนว่าความพร้อมของ “เพชรมรกต” ที่เตรียมตัวสำหรับไฟต์นี้มาเป็นแรมเดือน บวกกับเป็นพิกัดน้ำหนักธรรมชาติที่เขาถนัด จึงส่งให้เขาคว้าเข็มขัดแชมป์โลกมาพาดบ่าได้สมใจ และขึ้นป้องกันตำแหน่งมาแล้วสองครั้งจากผู้ท้าชิงรุ่นพี่ ยอดแสนไกล ไอเว แฟร์เท็กซ์ และผู้ท้าชิงชาวสวีเดน แม็กนัส แอนเดอร์สัน  


เพชรมรกต vs จิมมี (20 พ.ค.65)


ล่าสุด “เพชรมรกต” กลับคืนสังเวียนเพื่อทำหน้าที่อีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา และเป็นฝ่ายเฉือนชนะผู้ท้าชิงหน้าใหม่จากแดนน้ำหอม “จิมมี วีโนต์” รั้งเข็มขัดได้สำเร็จเป็นครั้งที่ 3

อีก 4 เดือนต่อมา “เพชรมรกต” กลับมาป้องบัลลังก์ครั้งที่ 4 กับผู้ท้าชิงอันดับหนึ่งฟอร์มแรง “ตะวันฉาย พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม” ทั้งคู่สู้กันได้อย่างสูสี แต่สุดท้าย “เพชรมรกต” เป็นฝ่ายพ่ายคะแนนเอกฉันท์ เสียแชมป์หลังครองบัลลังก์อยู่นานเกือบ 3 ปี

เพชรมรกต vs ตะวันฉาย (29 ก.ย.65)


แชมป์โลก ONE ชาวไทยคนที่ 8

กัปปิตัน เพชรยินดีอะคาเดมี

แชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นแบนตัมเวต
(22 ม.ค. 64 – 26 มี.ค.65)

Capitan bk.jpg


หลังได้รับโอกาสชุบตัวยังบ้านใหม่ไม่กี่เดือน นักมวยฟอร์มดี ฝีมือจัดจ้านอย่าง “ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง” ก็ผงาดในชื่อ “กัปปิตัน เพชรยินดีอะคาเดมี” ได้ฤกษ์เปิดตัวไฟต์แรกใน ONE ด้วยความท้าทายในกติกาคิกบ็อกซิ่งที่เขาเคยผ่านการชกมาเพียงครั้งเดียว โดยต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งผู้ช่ำชองในกติกานี้อย่าง “เพชรทนง เพชรเฟอร์กัส” ในรุ่นแบนตัมเวต (65.8 กก.)

แต่แล้ว “กัปปิตัน” ก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์น็อก เพชรทนง ได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 6 วินาที กลายเป็นที่จับตาในเวทีโลกเพียงชั่วข้ามคืน

กัปปิตัน vs อลาเวอร์ดี (22 ม.ค. 64)


ชัยชนะครั้งนั้นส่งให้ “กัปปิตัน” ก้าวกระโดดขึ้นมารั้งอันดับ 2 ของแรงกิง ONE คิกบ็อกซิ่ง พร้อมรับตั๋วชิงแชมป์โลกกับเจ้าของบัลลังก์ “อลาเวอร์ดี รามาซานอฟ” ต่อทันทีในศึก ONE: UNBREAKABLE เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา

แม้เจ้าตัวจะออกมายอมรับว่ายังไม่สันทัดในกติกานี้ แต่ฟอร์มการชกที่เกิดขึ้นในคืนนั้น เขาเป็นฝ่ายต้อนแชมป์เก่าได้อยู่หมัด เฆี่ยนแข้งระเบิดยางนักมวยรัสเซียจนขาเป๋เซลงพื้น เสียน็อกพร้อมเข็มขัดปลิวตั้งแต่กลางยก 2

“กัปปิตัน” ขึ้นป้องกันตำแหน่งครั้งแรกกับนักชกจอมเก๋าชาวฝรั่งเศส-แอลจีเรีย “เมห์ดี ซาทูต” จนครบยก 5 ยก จบแบบที่แชมป์ป้องกันตำแหน่งไว้ได้

26 มี.ค.65


จากนั้นอีกไม่กี่เดือนต่อมา “กัปปิตัน” ต้องเผชิญหน้ากับผู้ท้าชิงอันดับ 3 ของแรงกิงจากแดนซามูไร “ฮิโรกิ อากิโมโตะ” โดย กัปปิตัน ต้านความแข็งแกร่งของผู้ท้าชิงไม่อยู่ ถูกกระชากเข็มขัดไปต่อหน้าต่อตาเมื่อเดือนมีนาคม 2565

แชมป์โลก ONE ชาวไทยคนที่ 9

พระจันทร์ฉาย พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม

แชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นสตรอว์เวต
(30 ก.ค.64 – 20 พ.ค.65)

แชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นสตรอว์เวต เฉพาะกาล
(23 มิ.ย.66 – 22 ธ.ค.66)

แชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นสตรอว์เวต สมัยที่ 2
(22 ธ.ค.66 – ปัจจุบัน)

แชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นสตรอว์เวต
(28 มิ.ย.67 – ปัจจุบัน)

Prajanchai_PK_Saenchai Hero 1200x1165 1



นักชกน้องใหม่ป้ายแดงจากค่าย พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม “พระจันทร์ฉาย” เปิดตัวครั้งแรกในฐานะผู้ท้าชิงแชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นสตรอว์เวต (56.7 กก.) กับเจ้าตำนาน “สามเอ ไก่ย่างห้าดาว” ในศึก ONE: BATTLEGROUND เมื่อ 30 กรกฎาคม 2564

เขาใช้ความสดและความว่องไวสมฉายา “ฉายเป็นชุด” เบียดเอาชนะนักมวยรุ่นพี่จอมเก๋าไปได้ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก (ชนะ 2 เสมอ 1) นั่งแท่นเจ้าบัลลังก์แชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นสตรอว์เวต คนใหม่ในทันที

สามเอ vs พระจันทร์ฉาย (30 ก.ค.64)


“พระจันทร์ฉาย” ได้ฤกษ์ทำหน้าที่แชมป์โลกครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยเผชิญหน้ากับผู้ท้าชิงจากแดนมักกะโรนี “โจเซฟ ลาซิรี” และเป็นฝ่ายถูกหมัดซัดหน้าแตกจนต้องยอมจำนนแพ้ทีเคโอไปแบบไม่ครบยก เสียแชมป์ในที่สุด


พระจันทร์ฉาย vs โจเซฟ (20 พ.ค.65)


อย่างไรก็ตาม “พระจันทร์ฉาย” มีอันต้องพบกับคู่ปรับเก่าจอมเก๋า “สามเอ ไก่ย่างห้าดาว” อีกครั้ง โดยรอบนี้มีเข็มขัดแชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นสตรอว์เวต เฉพาะกาล เป็นเดิมพัน ในศึกประวัติศาสตร์ ONE ลุมพินี 22 หลังจากที่ “โจเซฟ ลาซิรี” มีอาการบาดเจ็บรบกวนและยังไม่สามารถทำหน้าที่ป้องกันตำแหน่งได้ โดย “พระจันทร์ฉาย” กลับคืนสู่ฟอร์มเก่ง เมื่อฉายอาวุธเป็นชุดตามสไตล์ ก่อนได้จังหวะสับศอกตอกหน้าอริเก่าย้ำชัยไปได้แบบน่าทึ่ง กลับมาครองเข็มขัดแชมป์เฉพาะกาลได้อย่างสวยหรู


พระจันทร์ฉาย vs สามเอ II (23 มิ.ย.66)


ในศึกใหญ่ส่งท้ายปี ONE ลุมพินี 46 เมื่อ 22 ธ.ค.66 “พระจันทร์ฉาย” ได้โอกาสเปิดศึกภาคสองกับคู่ปรับเก่า “โจเซฟ” อย่างสมใจหลังรอคอยเวลานี้มานานนับปี เพื่อพิสูจน์หาราชันมวยไทยในรุ่นนี้เพียงหนึ่งเดียว และครั้งนี้ยอดฝีมือจากเมืองกรุงสามารถสางแค้นที่ฝังลึกในใจได้สำเร็จ สับศอกปิดเกม “โจเซฟ” เพียงแค่ยกแรกเท่านั้น กระชากเข็มขัดแชมป์กลับคืนสู่ผืนแผ่นดินไทยได้อย่างสะใจคนทั้งประเทศ 


พระจันทร์ฉาย vs โจเซฟ II (22 ธ.ค.66)


หลังจากครองตำแหน่งแชมป์โลกเฉพาะกาล “พระจันทร์ฉาย” ได้คิวประจันหน้า “โจนาธาน ดิ เบลลา” เมื่อเดือน เม.ย.67 แต่สุดท้ายแล้วการแข่งขันกลับไม่เกิดขึ้น เนื่องจาก “ดิ เบลลา” ไม่สามารถทำค่าน้ำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ส่งผลให้ตำแหน่งแชมป์โลกคิกบ็อกซิ่ง รุ่นสตรอว์เวต ของ “ดิ เบลลา” มีสถานะเป็น “แชมป์ว่าง” โดยทันที นอกจากนั้น “ดิ เบลลา” ยังเกิดป่วยกะทันหันต้องถอนชก ไฟต์นั้นจึงถูกยกเลิกไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่โคจรกลับมาเจอกันในศึกนัดยิ่งใหญ่แห่งปี ONE ลุมพินี 68 เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.67 และ “พระจันทร์ฉาย” เป็นฝ่ายเอาชนะด้วยคะแนนเอกฉันท์ สามารถสร้างประวัติศาสตร์ผงาดขึ้นเป็นแชมป์โลก ONE มวยไทย และคิกบ็อกซิ่ง รุ่นสตรอว์เวต อย่างเป็นทางการ

พระจันทร์ฉาย vs ดิ เบลลา (28 มิ.ย.67)



แชมป์โลก ONE ชาวไทยคนที่ 10

ซุปเปอร์บอน สิงห์มาวิน

แชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นเฟเธอร์เวต
(15 ต.ค.64
– 14 ม.ค.66)

แชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นเฟเธอร์เวต เฉพาะกาล
(5 เม.ย.67 – ปัจจุบัน)

Superbon Hero 1200x1165 1


“ซุปเปอร์บอน สิงห์มาวิน” หนึ่งในยอดฝีมือคิกบ็อกซิ่งของไทยผู้สร้างชื่อเสียงมามากมายในเวทีระดับโลก เดิมที ซุปเปอร์บอน รั้งอันดับ 2 ของแรงกิง ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นเฟเธอร์เวตตามหลัง “The Doctor” จอร์จิโอ เปโตรเซียน เบอร์หนึ่งของรุ่นนี้ ทั้งคู่ถูกมองว่าจะเป็นคู่ชิงแชมป์โลก ONE รุ่นนี้ที่ยังร้างเจ้าบัลลังก์ แต่ก็แคล้วคลาดกันไปมาจน “ซุปเปอร์บอน” มองว่า เปโตรเซียน เป็นฝ่ายบ่ายเบี่ยงไม่อยากสู้กับตน


เปโตรเซียน vs ซุปเปอร์บอน (15 ต.ค.64)


แต่แล้ว ONE ก็ประกาศศึกดรีมไฟต์ที่ทุกคนเฝ้ารอคอยเพื่อเฟ้นหาแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นเฟเธอร์เวตเป็นครั้งแรกในศึก ONE: FIRST STRIKE เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งทั้งคู่ได้มาประจันกันจะจะหลังจากที่รอมานาน

โดย “ซุปเปอร์บอน” สามารถโค่นตัวพ่อคิกบ็อกซิ่งชาวอิตาเลียนด้วยลูกเตะก้านคอช็อกโลก สถาปนาขึ้นเป็นแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นเฟเธอร์เวตคนแรกในประวัติศาสตร์และเป็นชาวไทยคนที่ 10 ที่นั่งบัลลังก์แชมป์โลก ONE


ซุปเปอร์บอน vs มารัต (26 มี.ค.65)


ต่อมาในเดือนมีนาคม 2565 ราชันคิกบ็อกซิ่งลงป้องกันตำแหน่งครั้งแรกกับผู้ท้าชิงอันดับหนึ่งของแรงกิง “มารัต กริกอเรียน” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักชกเก่งกาจที่สุดเมื่อเทียบปอนด์ต่อปอนด์ แต่ ซุปเปอร์บอน ก็สามารถเอาชนะคะแนนมาได้ขาดลอย กอดเข็มขัดไว้แน่น

“ซุปเปอร์บอน” ได้ฤกษ์ป้องกันตำแหน่งครั้งที่สองโดยต้องพบกับผู้ท้าชิงอันดับหนึ่งของแรงกิง “ชิงกิซ อัลลาซอฟ” ดีกรีแชมป์ ONE คิกบ็อกซิ่ง เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ รุ่นเฟเธอร์เวต โดยผู้ท้าชิงเป็นฝ่ายเอาชนะแชมป์โลกด้วยการน็อกเอาต์แบบช็อกโลกในยกสอง กระชากเข็มขัดถึงในบ้านต่อหน้าแฟนกีฬาชาวไทย


ซุปเปอร์บอน vs ชิงกิซ (14 ม.ค.66)


อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ “ชิงกิซ” เจ้าบัลลังก์คนปัจจุบันยังไม่สามารถทหน้าที่ป้องกันตำแหน่งได้ “ซุปเปอร์บอน” จึงได้โอกาสชิงตำแหน่งแชมป์โลกเฉพาะกาลของรุ่นนี้ โดยเผชิญหน้ากับคู่ปรับไม้เบื่อไม้เมา “มารัต กริกอเรียน” และเป็นฝ่ายชนะคะแนนเอกฉันท์นั่งแท่นแชมป์โลกเฉพาะกาลสำเร็จใน ศึก ONE ลุมพินี 58 เมื่อวันที่ 5 เม.ย.67 รอวันแย่งเข็มขัดเส้นหลักคืนจาก “ชิงกิซ อัลลาซอฟ” ต่อไป


แชมป์โลก ONE ชาวไทยคนที่ 11

ตะวันฉาย พีเค.แสนชัย

แชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นเฟเธอร์เวต
(29 ก.ย.65 – ปัจจุบัน)

Tawanchai Hero 1200x1165 1.jpg


“ตะวันฉาย พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม” หลังจากประสบความสำเร็จอย่างสูงในวงการมวยไทย เขาก็หมายตาที่จะสร้างชื่อในเวทีระดับโลกอย่าง ONE และเขาก็ไม่ผิดหวังเมื่อเปิดตัวครั้งแรกอย่างปังด้วยการแจกน็อกคู่แข่งชาวไอริช “ฌอน แคลนซี” และยังโชว์ฟอร์มแกร่งคว้าชัยสองครั้งจากสามไฟต์ ส่งให้เขาเป็นที่จับตามองในฐานะดาวรุ่งฝีมือเยี่ยมที่อาจกลายเป็นซูเปอร์สตาร์คนต่อไป

ต่อมา “ตะวันฉาย” เปิดรับความท้าทายครั้งใหม่โดยตัดสินใจขยับน้ำหนักขึ้นมาสู้ในรุ่นเฟเธอร์เวต (155 ป.) จากเดิมที่อยู่ในรุ่นแบนตัมเวต (145 ป.) เพื่อล่าฝันในการครองแชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นเฟเธอร์เวตให้ได้

“ตะวันฉาย” ประเดิมไฟต์แรกในรุ่นเฟเธอร์เวตเต็มตัวด้วยการเอาชนะน็อกคู่แข่ง “นิคลาส ลาร์เซน” จากเดนมาร์ก คว้าใบผ่านทางสู่การชิงแชมป์โลกกับ “เพชรมรกต” ใฐานะผู้ท้าชิงอันดับหนึ่งของแรงกิงรุ่นนี้


เพชรมรกต vs ตะวันฉาย (29 ก.ย.65)


โดยในศึกสายเลือดที่เพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ปรากฏว่า “ตะวันฉาย” สามารถโค่นแชมป์โลกมือกาวอย่าง เพชรมรกต ไปได้อย่างสุดมัน นั่งแท่นราชัน ONE มวยไทย รุ่นเฟเธอร์เวตคนใหม่ และเป็นชาวไทยคนที่ 11 ที่ได้ครองตำแหน่งแชมป์โลก ONE


ตะวันฉาย vs จามาล (25 ก.พ.66)


ต่อมาในศึก ONE Fight Night 7 เมื่อ ก.พ.66 “ตะวันฉาย” ได้ฤกษ์ป้องกันตำแหน่งครั้งแรกกับผู้ท้าชิงกับผู้ท้าชิงอันดับสองจากตุรกี “จามาล ยูซูพอฟ”  โดยแชมป์โลกชาวไทยวัย 24 ปี เอาชนะทีเคโอโดยใช้เวลาเพียง 49 วินาทีของยกแรก รั้งบัลลังก์ครั้งแรกสำเร็จ


ตะวันฉาย vs ซุปเปอร์บอน (22 ธ.ค.66)

ขณะที่ในศึกใหญ่ส่งท้ายปี ONE ลุมพินี 46 เมื่อ ธ.ค.66 “ตะวันฉาย” ยังคงสานต่อฟอร์มอันร้อนแรง ด้วยการเอาชนะคะแนน “ซุปเปอร์บอน สิงห์มาวิน” อดีตเจ้าของเข็มขัดคิกบ็อกซิ่งรุ่นเดียวกันที่หวังมาชิงเข็มขัดกติกามวยไทย ทำให้เจ้าของฉายา “ซ้ายดารา” สามารถป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกไว้ได้เป็นครั้งที่สอง

“ตะวันฉาย” ยังคงประกาศศักดาผงาดเหนือบัลลังก์ติดต่อกันเป็นสมัยที่ 4 หลังเปิดศึกภาคสองกับผู้ท้าชิงรุ่นใหญ่ “โจ ณัฐวุฒิ” อย่างคู่คี่สูสีสนั่นอิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี และชนะคะแนนเสียงข้างมากไปได้ ในศึก ONE 167: ตะวันฉาย vs โจ II เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.67



แชมป์โลก ONE ชาวไทยคนที่ 12

เพชรทนง เพชรเฟอร์กัส

แชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นแบนตัมเวต
(19 พ.ย.65 – 22 ก.ค.66)

Petchtanong hero 1200x1165 champ.jpg


“เพชรทนง เพชรเฟอร์กัส” ในวัย 36 ปี ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักคิกบ็อกซิ่งระดับเทพที่กวาดเข็มขัดมาแล้วหลายเวทีในระดับโลก แม้จะเปิดตัวใน ONE ได้ไม่สวยงามนักด้วยการแพ้น็อกแบบช็อกโลกให้กับ “กัปปิตัน เพชรยินดีอะคาเดมี” แต่เขาก็กลับมาแก้ตัวด้วยการโชว์ฟอร์มเก่งเอาชนะคู่แข่งจากแดนมังกร “จาง เฉิงหลง” เมื่อเดือนกันยายน 2564 และขึ้นมารั้งตำแหน่งผู้ท้าชิงอันดับ 3 ของแรงกิงรุ่นนี้  

และแล้ววันที่รอคอยก็มาถึง เมื่อเขาได้ฤกษ์ขึ้นชิงเข็มขัดกับแชมป์โลก ONE กับ  “ฮิโรกิ อากิโมโตะ” จากแดนซามูไร ในศึก ONE 163: ฮิโรกิ vs เพชรทนง เมื่อ 19 พ.ย.65 โดยเป็นความหวังชาวไทยที่จะกระชากเข็มขัด ONE มาเป็นของคนไทย หลังแชมป์เก่า “กัปปิตัน” ถูกโค่นบัลลังก์ไปก่อนหน้านี้


ฮิโรกิ vs เพชรทนง (19 พ.ย.65)


“เพชรทนง” ที่วางแผนฟิตซ้อมนานร่วมปีไม่ทำให้แฟนกีฬาชาวไทยผิดหวัง ใช้ความเก๋าดักแทงเข่าสยบความแกร่งของแชมป์โลกได้อยู่หมัด แม้จะเบียดเอาชนะคะแนนไปแบบไม่เอกฉันท์ แต่นั่นก็เพียงพอที่นั่งบัลลังก์แชมป์โลก ONE คนใหม่แบบได้ใจคนดู ขึ้นทำเนียบเป็นแชมป์โลก ONE ชาวไทยคนที่ 12

อย่างไรก็ตาม จากการสุ่มตรวจสารต้องห้ามในนักกีฬาตามกฎระเบียบข้อบังคับของ องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency: WADA ) พบว่า “เพชรทนง” มีการใช้สารต้องห้ามที่ขัดต่อข้อบังคับ ทำให้ ONE ต้องเรียกคืนตำแหน่งแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นแบนตัมเวต จาก “เพชรทนง” และให้อยู่ในสถานะแชมป์ว่าง ก่อนที่จะจัดการแข่งขันหาผู้ที่เหมาะสมและทรงเกียรติที่สุดขึ้นมาชิงตำแหน่งนี้ต่อไปในอนาคต


แชมป์โลก ONE ชาวไทยคนที่ 13

ซุปเปอร์เล็ก เกียรติหมู่ 9

แชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นฟลายเวต
(14 ม.ค.66 – ปัจจุบัน)

แชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นแบนตัมเวต
(7 ก.ย.67 – ปัจจุบัน)

Superlek hero 1200x1165 doublechamp


“The Kicking Machine (เครื่องจักรนักเตะ)” ซุปเปอร์เล็ก เกียรติหมู่ 9″ ยอดมวยจากเมืองบุรีรัมย์ กรุยเส้นทางใน ONE อย่างสวยงามในสายมวยไทยด้วยสถิติชนะ 3 ไฟต์รวด หลังจากนั้นเขาอ้าแขนรับความท้าทายใหม่ด้วยการข้ามสายมาชกในกติกาคิกบ็อกซิ่งและประเดิมชัยเหนือ “ฟาห์ดี คาเล็ด” จากตูนิเซีย และได้รับโอกาสสำคัญในการขึ้นชิงเข็มขัดคิกบ็อกซิ่งกับ “อิเลียส เอ็นนาฮาชิ” แชมป์โลกที่นั่งครองบัลลังก์มาแล้วถึง 4 สมัย เมื่อเดือน ก.พ. 2564

อย่างไรก็ตาม “ซุปเปอร์เล็ก” ก็ต้องอกหักเมื่อต้องพ่ายคะแนนเอกฉันท์ท่ามกลางดรามาค้านสายตาจนกระทั่ง “บิ๊กบอส” ชาตรี ศิษย์ยอดธง ประกาศรีแมตช์ทันที แต่จนแล้วจนรอดศึกรีแมตช์นั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้น

หลังจากที่เลื่อนโปรแกรมมาเป็นปี ทั้งคู่ถูกจองตัวเป็นมั่นเหมาะให้เปิดศึกชิงเข็มขัดอีกครั้งในศึก ONE FIGHT NIGHT 6 เมื่อ 14 ม.ค.66 แต่อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการแข่งขัน “อิเลียส” กลับประกาศสละตำแหน่งโดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถทำน้ำหนักให้อยู่ในรุ่นฟลายเวต (125-135 ป.) ได้อีกต่อไป ยังผลให้ตำแหน่งแชมป์โลกรุ่นนี้กลายเป็น “แชมป์ว่าง” ทันที


ซุปเปอร์เล็ก vs แดเนียล (14 ม.ค.66)


“ซุปเปอร์เล็ก” จึงต้องเปลี่ยนคู่ชกกะทันหันโดยได้ “แดเนียล พูแอร์ตัส” นักชกชาวสเปนมาเป็นคู่ท้าชิงเข็มขัด และในที่สุดการอคอยของยอดมวยจอมเตะก็สิ้นสุดลงเมื่อเขาสามารถเอาชนะคะแนนคู่แข่งเอกฉันท์ ผงาดนั่งบัลลังก์ ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นฟลายเวต สมใจ และขึ้นทำเนียบเป็นแชมป์โลก ONE ชาวไทยคนที่ 13

อีกเพียงสองเดือนต่อมา “ซุปเปอร์เล็ก” กลับมาประจำป้อมเพื่อทำหน้าที่แชมป์โลก ONE ครั้งแรก โดยได้คิวปะทะเดือดกับราชันมวยไทยจอมบู๊ “รถถัง จิตรเมืองนนท์” ที่กำลังไล่ล่าเข็มขัดเส้นที่สองในสายคิกบ็อกซิ่ง ในศึก ONE FIGHT NIGHT 8 เมื่อเดือน มี.ค.66


ซุปเปอร์เล็ก vs แดเนียล (25 มี.ค.66)


อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ต้องคลาดกันไปเมื่อ “รถถัง” ได้รับบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมต้องถอนชกก่อนการแข่งขันเพียงไม่กี่วัน ส่งให้ “ซุปเปอร์เล็ก” ต้องเปลี่ยนเป็นคู่ท้าชิงใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้มี “มินิที” แดเนียล วิลเลียมส์ นักชกหนุ่มลูกครึ่งไทย-ออสซี อาสาแบกน้ำหนักจากรุ่นสตรอว์เวต (115-125 ป.) ขึ้นมาเสียบแทน

โดย “ซุปเปอร์เล็ก” อาศัยความได้เปรียบเรื่องประสบการณ์การชกและความแข็งแกร่งเอาชนะน็อกคู่แข่งไปได้ในยกสอง ป้องกันเข็มขัดครั้งแรกสำเร็จและนั่งครองบัลลังก์ราชันคิกบ็อกซิ่ง รุ่นฟลายเวต เป็นสมัยที่สอง

Jonathan Haggerty Superlek Kiatmoo9 ONE 168 65

“ซุปเปอร์เล็ก” อ้าแขนรับความท้าทายครั้งสำคัญ โดยปีนเวตจากรุ่นฟลายเวต ขึ้นท้าชิงเข็มขัดมวยไทย รุ่นแบนตัมเวต กับ “The General” โจนาธาน แฮ็กเกอร์ตี แชมป์โลก ONE มวยไทย และคิกบ็อกซิ่ง รุ่นแบนตัมเวต (135-145 ป.) จากสหราชอาณาจักร ใน ศึก ONE 168: Denver ที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา และทำแฟนกีฬาทั่วโลกต้องทึ่งด้วยการดักศอกน็อกเอาต์เจ้าของเข็มขัดอย่างไวโดยใช้เวลา 49 วินาทีของยกแรก และสร้างประวัติศาสตร์นั่งแท่นเป็นแชมป์โลก ONE 2 รุ่น 2 กติกาทันที


แชมป์โลก ONE ชาวไทย คนที่ 14

เพชรจีจ้า ลูกเจ้าพ่อโรงต้ม

แชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นอะตอมเวตหญิง เฉพาะกาล
(22 ธ.ค.66 – 9 มี.ค.67)

แชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นอะตอมเวตหญิง
(9 มี.ค.67 – ปัจจุบัน)

Phetjeeja_Lukjaoporongtom Hero 1200x1165 2


“เพชรจีจ้า ลูกเจ้าพ่อโรงต้ม” สาวฟอร์มแกร่งแรงเยี่ยงชาย จากระยอง เป็นที่จับจ้องของแฟนกีฬาการต่อสู้ชาวไทย ด้วยผลงานการคว้าชัยแบบไม่ครบยกติดต่อกัน จนสามารถพิชิตความฝันกลายเป็นนักกีฬาหญิงรายแรกจาก ONE ลุมพินี ที่ได้ก้าวสู่เวทีระดับโลกในศึก ONE รายการใหญ่

ด้วยชั้นเชิงและลีลาที่หาตัวจับยาก ทำให้ “เพชรจีจ้า” ได้โอกาสขึ้นชิงแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นอะตอมเวตหญิง เฉพาะกาล เผชิญหน้ากับของแข็งอย่าง “อนิสสา เม็กเซน” สาวมากประสบการณ์ จากฝรั่งเศส-แอลจีเรีย ที่เคยคว้าแชมป์โลกคิกบ็อกซิ่งและมวยไทยมาอย่างมากมายถึง 18 รายการ ซึ่งสาวแกร่งจากเมืองชายทะเลก็ไม่ทำให้แฟน ๆ ชาวไทย ผิดหวัง หลังโชว์ความสดบวกกับการออกอาวุธที่แม่นยำ เป็นฝ่ายเอาชนะคะแนน “อนิสสา” ไปแบบสนุก ขึ้นเถลิงบัลลังก์แชมป์ได้อย่างสมใจ 


เพชรจีจ้า vs อนิสสา (22 ธ.ค.66)


อย่างไรก็ตามอีก 3 เดือนถัดมา ในศึก ONE Fight Night 20 “เพชรจีจ้า” ก็ได้โอกาสขึ้นประชันฝีมือขั้นแตกหัก เผชิญหน้าตำนานคิกบ็อกซิ่งตัวแม่ “เจเน็ต ท็อดด์” เจ้าของตำแหน่งตัวจริง ชาวสหรัฐอเมริกา เพื่อพิสูจน์ฝีมือหาเจ้าบัลลังก์ของรุ่นนี้เพียงหนึ่งเดียว ซึ่งตลอดการแข่งขัน “เพชรจีจ้า” ที่มาด้วยความมั่นใจ เป็นฝ่ายใช้ความสดรุกเข้าใส่ชนิดที่ไม่เกรงบารมีแชมป์ โดยเฉพาะในยกตัดสินที่เจ้าตัวสามารถยิงหมัดขวาส่งราชินีแดนมะกันลงไปนับแปดได้สำเร็จ ก่อนจะเอาชนะคะแนน “เจเน็ต” ไปแบบไร้ข้อกังขา นั่งแท่นราชินีคิกบ็อกซิ่ง รุ่นอะตอมเวต คนใหม่ได้อย่างน่าประทับใจ


เพชรจีจ้า vs เจเน็ต (9 มี.ค.67)



อ่านเพิ่มเติม:

ดูเพิ่มเติมในหมวด บทความ

06 Rungrawee vs George Jarvis OL85 (2)
06 Parham Gheirati vs George Mouzakitis (32) OL84
OFN13 Marcus Almeida VS Oumar Kane (1)
OL75_03 Shir Cohen VS Francisca Vera (25)
youssef assouik 16 9
Thai champs cover update
OL58 Seksan vs Yutaro Asahi (62)
Jonathan Haggerty vs Felipe Lobo OFN19 (52)
Shadow Mom
Suablack Tor Pran49 vs Craig Coakley OL46 (17)
Saemapetch VS Felipe Lobo60
Dimitri kovtun