ความปราชัยซ้ำซาก ไม่อาจทำลายการคิดบวกของ “ครูตอง” ชนนภัทร
“กีฬามีแพ้ มีชนะ” พูดง่าย แต่หลายคนทำใจยาก นักกีฬาบางคนแพ้แล้วท้อ ไปต่อไม่ได้ ยิ่งถูกกระแสโจมตี เดี๋ยวนี้มีไซเบอร์บูลลี (Cyber Bullying) ที่เข้าถึงง่าย ทำให้นักกีฬาถึงกับเสียเซลฟ์ หมดไฟกับทางเดินของตัวเองก็มี
แต่สำหรับ “ครูตอง” ชนนภัทร วิรัชชัย นักกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) คนแรกๆ ที่บุกเบิกกีฬานี้ในประเทศไทยตั้งแต่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก และยังเป็นนักกีฬาที่เติบโตมาพร้อมกับ วัน แชมเปียนชิพ ตั้งแต่สมัยที่เปิดตัวใหม่ๆ รวมแล้วเป็นเวลาเกือบ 9 ปี
วันวานที่ผ่านไป ครูตอง ได้รับชัยชนะมานับไม่ถ้วน แต่ช่วงหลังๆ ที่อายุมากขึ้น ประกอบกับเลเวลการแข่งขันก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เขาพบกับความพ่ายแพ้ต่อเนื่อง บวกกับกระแสที่ถาโถมเข้ามา มีผลกระทบต่อจิตใจพอสมควร
“สมัยที่ผมชนะรัวๆ ก็มีคอมเมนต์ว่าผมเจอหมูบ้าง แต่ช่วงหลังที่ผมแพ้บ่อยๆ ก็มีต่อว่าหนักๆ ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาแบบไหน ก็ย่อมมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบอยู่ดี ผมอาจจะรู้สึกเซ็งนิดๆ ที่เจอแบบนี้ แต่มันเป็นแนวหงุดหงิดมากกว่าความเครียด”
“คนส่วนใหญ่เขาไม่ได้สนใจว่าเราเจองานแบบไหน ง่ายหรือยาก คนแพ้ไม่มีสิทธิ์พูด ลึกๆ มันทำให้เครดิตในคำพูดของเราเสียไป ซึ่งถ้าตัดเรื่องนี้ ก็ไม่มีผลอะไรกับการใช้ชีวิต”
“สำหรับผม สี่ไฟต์ที่ผมแพ้มา ทำให้ผมได้พัฒนาตัวเอง ได้เห็นตัวเองมากขึ้นว่าเราต้องพัฒนาอะไร ซึ่งในฝั่งตัวเองผมไม่เครียดเลย มีแต่ความตั้งใจที่จะซ้อมให้มากขึ้น”
“ตอนที่ผมแพ้ใหม่ๆ ผมก็มีเซ็งบ้าง เดินลงจากเวที แพ้อีกแล้วอ่ะ แต่ในเมื่อเรารักในด้านนี้ เราก็ต้องฝึกตัวเองให้เก่งขึ้น”
มีกระแสที่ตั้งคำถามว่า “ครูตองหมดไฟหรือเปล่า” เกี่ยวกับเรื่องนี้ ครูตอง ตอบอย่างชัดเจนว่า ไม่หมดไฟแน่นอน แต่ไฟของสมัยตอนอายุ 23 กับ 31 มันแตกต่างกัน
“ในความมีไฟของเรา ระหว่างตอนที่เราอายุ 23 ปี กับตอนนี้อายุ 31 มันก็คนละแบบ เราก็ต้องหาไฟที่มันเหมาะสมกับเราด้วย ถ้าเราอายุขนาดนี้ จะให้ไปเปิดหน้าแลก ก็คงเป็นวิธีที่ไม่ฉลาด เพราะมันไม่เหมาะกับอายุและสภาพร่างกายของเรา”
“เรารู้ตัวว่าเราซ้อมเต็มที่ เราแพ้ เพราะเราแก้โจทย์ไม่ได้ ไม่ใช่ล้มมวย”
- “ครูตอง” ชนนภัทร นักสู้รุ่นบุกเบิกสมัยคนไทยแทบไม่รู้จัก MMA
- ขี้สงสัย!…”เอเลียน” เกี่ยวอะไรในการเปิดตัว “ครูตอง”
- The Show Must Go On!! นักกีฬา ONE คิดอย่างไรกับการแข่งขันแบบสนามปิด
“การที่วงการกีฬาจะพัฒนาได้ มันก็ต้องมีทั้งคนแพ้ คนชนะ แล้วนำเทคนิคความรู้มาถ่ายทอดสู่รุ่นต่อๆ ไป เมื่อผมอยู่ในฐานะผู้ชนะไม่ได้ ผมก็ถ่ายทอดความรู้ในฐานะผู้แพ้”
“เราคาดหวังว่าเราจะชนะ แต่ถ้าในระหว่างทางเรามีประสบการณ์แบบคนแพ้ มันก็ยังเป็นประโยชน์ให้กับคนอื่น”
“อย่างตอนผมเจอ ชินยะ (ชินยะ อาโอกิ นักสู้ตัวท็อปของญี่ปุ่น อดีตแชมป์โลก ONE รุ่นไลต์เวต) ซึ่งเขามีทักษะการต่อสู้ที่พิเศษ จะมีคนไทยสักกี่คนที่มีโอกาสเจอระดับอย่างเขา ผมผ่านประสบการณ์ที่รู้ว่าจุดไหนใช้ได้ ใช้ไม่ได้ ผมมองเห็นหลายๆ มุม”
ส่วนสำคัญที่ทำให้นักกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ของไทย ยังไปไม่ถึงฝัน เพราะประเทศเรายังเพิ่งเริ่มต้นสำหรับกีฬาประเภทนี้ ในขณะที่ประเทศอื่นเขาแข่งขันกันมานานอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีโค้ชซึ่งมีประสบการณ์ มียิมเปิดสอนมากมาย และมีคู่ซ้อมมากหน้าหลายตา หลายรุ่นน้ำหนัก และหลายสไตล์
เทียบกันให้เห็นง่ายๆ ไม่มีชาติไหนเก่ง “มวยไทย” เท่าประเทศไทย เพราะเราคลุกคลีกับกีฬานี้กันมาหลายศตวรรษ เรามีครูมวยระดับแชมป์ท้องถิ่นไปจนถึงระดับแชมป์โลก มีค่ายมวยนับพันแห่ง และมีนักมวยเป็นคู่ซ้อมแทบนับไม่ถ้วน ใครอยากเอาดีทางนี้ก็ตีตั๋วเรียน รับรองไม่ผิดหวัง ในขณะที่ประเทศอื่นบางประเทศ เพิ่งจะเริ่มหัดมวยไทยกันเมื่อไม่กี่ปี…เปรียบเทียบแบบนี้คงทำให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้น
“การเป็นนักกีฬา กับคนที่สนใจการต่อสู้ มันคนละแบบ นักกีฬาจะโฟกัสกับการแข่งขันอย่างจริงจัง ส่วนคนที่สนใจการต่อสู้ เขาอาจจะชอบดู ชอบศึกษา แต่จะไม่รู้สิ่งที่เกิดขึ้นบนสังเวียน เพราะเขาไม่เคยได้สัมผัสมันจริงๆ ซึ่งทั้งสองประเภทนี้ต่างกันสุดขั้ว ส่วนผมนั้นอยู่ตรงกลาง ผมสัมผัสทั้งสองอย่าง”
“การที่ผมพยายามเผยแพร่ความรู้ของผมออกไปในมุมที่ผมเห็น ใครจะคิดเห็นยังไงผมไม่ได้สนใจตรงนั้น ผมผ่านประสบการณ์จริงมาแล้ว จะมากจะน้อย คุณได้ข้อมูลจากผมแน่นอน”
“นักกีฬาจะเก่งขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่มีคู่ซ้อม ถ้าเปรียบเป็นการปลูกต้นไม้ เราควรจะปลูกกันตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว เราจึงจะได้เก็บดอกผล แต่เมื่อเราย้อนเวลาไม่ได้ เราเริ่มทำวันนี้ ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย”
อ่านเพิ่มเติม: เป็นนักมวยก็รวยได้ “เมืองไทย” นักมวยตัวอย่าง เงินเก็บหลักล้าน มีบ้าน มีที่ดิน จากน้ำพักน้ำแรงตัวเอง