ความพยายามของ “พูจา โทมาร์” กับการตามล่าความฝันบนเส้นทางนักสู้

Puja Tomar IMG_6257

“The Cyclone” พูจา โทมาร์ มีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่กับการยกระดับศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ในประเทศอินเดีย และเธอเชื่อว่าการเอาชนะแชมป์โลก ONE สองประเภทกีฬาอย่าง “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” ในศึก ONE: A NEW TOMORROW ในวันศุกร์ที่ 10 มกราคมที่กำลังมาถึง จะทำให้เธอสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้

สำหรับเจ้าของฉายา “The Cyclone” แล้ว ภารกิจครั้งนี้เป็นเกียรติอย่างยิ่ง เพราะเมื่อกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสานเติบโตเป็นที่นิยมในประเทศของเธอมากขึ้นเท่าใด มันจะยิ่งช่วยเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนหันมาเล่นกีฬาประเภทนี้และมีโรงยิมเปิดมากขึ้นทั่วทั้งประเทศ

ศึกครั้งนี้อาจทำให้ความฝันของนักสู้สาวชาวอินเดีย ที่ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นเพื่อหาสถานที่ฝึกฝนศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานที่ดีที่สุดในภูมิภาคเป็นจริงได้

“พูจา โทมาร์” เติบโตในเมืองเล็กๆ ชื่อ Budhana ทางตอนเหนือของอินเดีย เธอตกหลุมรักการต่อสู้มาตั้งแต่ยังเด็ก แต่ในประเทศของเธอนั้นการต่อสู้แบบผสมผสานยังไม่เป็นที่นิยมมากเท่าไหร่

“ฉันเป็นเด็กซน อยู่ไม่นิ่ง ฉันช่วยแม่ปลูกข้าว เมื่อมีเวลาว่างฉันชอบเล่นกีฬา ฉันดูกีฬาวูซูและชกมวย และชอบเลียนแบบเวลาที่นักกีฬาเขาแข่งขันกัน”

“สมัยเด็กๆ แถวหน้าบ้านของฉัน จะมีคนมารวมตัวกันเพื่อซ้อมการต่อสู้ ฉันก็ไปยืนดูเป็นชั่วโมงๆ เลย”



เธอพยายามเลียนแบบสิ่งที่เธอเห็น และใช้สิ่งสาธารณูปโภคในท้องถิ่นเพื่อการฝึกฝนแบบตามมีตามเกิด กระทั่งเมื่อวัยเพียง 12 ปี พูจา รู้สึกว่าข้อจำกัดเหล่านี้อาจทำให้เธอไปไม่ถึงฝัน ทางเดียวที่จะทำให้เธอพัฒนาต่อไปได้ ก็คือการย้ายไปอยู่เมืองที่ใหญ่กว่าซึ่งมีโอกาสข้างหน้าให้เธอไขว่คว้า

“สมัยเด็กๆ ฉันเรียนคาราเต้ที่โรงเรียน แต่ฉันก็รู้ว่าฉันไม่สามารถซ้อมแบบจัดหนักๆ ได้ ฉันสามารถทำได้ดีกว่านั้น จึงบอกกับแม่ว่า ฉันต้องไปที่ไหนสักแห่งเพื่อเปิดโอกาสให้กับตัวเองได้เป็นนักกีฬาที่ดีขึ้น ฉันจะต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก ดังนั้น ขอให้ฉันได้ไปเถอะ”

“ฉันจึงออกจากบ้านและย้ายไปเมือง Meerut ตอนฉันอายุ 12 ปี ซึ่งแม่และพี่น้องก็สนับสนุนการตัดสินใจของฉันอย่างมาก”

เมือง Meerut เป็นเมืองที่ใกล้ที่สุด เพียง 45 กิโลเมตรจากบ้านเกิดของเธอ ที่นั่นมีการฝึกสอนศิลปะการต่อสู้ที่ดีและเยอะกว่ามาก มันจึงเป็นเริ่มต้นใหม่ครั้งสำคัญของ พูจา

“ฉันเห็นว่าการฝึกซ้อมที่สนาม Meerut นั้นดีมากๆ คนที่นั่นฝึกซ้อมกันอย่างหนัก ฉันจึงสมัครเรียนวูซู”

“แรกๆ ฉันก็ไม่ค่อยมั่นใจกับชีวิตข้างหน้าและฉันก็ยังไม่พร้อม แต่เมื่อฉันนึกถึงสถานะการเงินของทางบ้าน ฉันจึงตัดสินใจมุ่งมั่นที่จะเดินหน้า เพื่อหาโอกาสในการช่วยเหลือครอบครัว”

พูจา พัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้วยการชี้นำที่ถูกต้อง ประกอบกับความกระตือรืนร้นและวินัยในการฝึกซ้อมของเธอ จนสามารถสร้างชื่อในวงการวูซูระดับประเทศ และความทะเยอทะยานก็ทำให้เธอเติบโตในเส้นทางนี้ขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม พูจา รู้สึกว่าเธอใช้ความสามารถทางกายภาพมากเกินไป ซึ่งเธอต้องพัฒนาทักษะด้านอื่นร่วมด้วย หากต้องการก้าวหน้าไปสู่จุดสูงสุดของวงการ

“เมื่อฉันเล่นกีฬาวูซูในระดับเยาวชน ฉันไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคใดๆ ฉันแค่ต้องใช้พละกำลังทางกายเพื่อเอาชนะ”

“ฉันคว้าเหรียญรางวัลได้ครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 12 ปี ในการแข่งขันเยาวชนระดับชาติ พี่สาวของฉันค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตและพบว่า คนที่ได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันชิงแชมป์ระดับประเทศ สามารถไปอาศัยที่เมือง Bhopal โดยรัฐบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนค่าอาหารและที่พักอาศัยให้”

“หลังจากนั้น ด้วยความพยายามของพี่สาวและลุง ฉันก็ได้ย้ายไปอยู่ที่เมือง Bhopal เพื่อเข้าร่วมกับสมาคมกีฬาของอินเดีย”

ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสนับสนุนการตัดสินใจของ พูจา แต่โชคดีที่แม่เป็นกองหลังให้เธอตลอด โดยบอกกับลูกสาวว่าให้ทำตามความฝันและเธอจะจัดการกับความคิดแง่ลบของคนรอบข้างเอง

“ฉันยังจำวันที่ฉันออกจากบ้านได้ว่า ญาติๆ มาเยี่ยมที่บ้าน และวิจารณ์ว่าฉันคงไม่สามารถไปแข่งขันในระดับกีฬาโอลิมปิกได้หรอก ควรจะอยู่บ้านดีกว่า”

“แม่ของฉันร้องไห้และคอยแก้ต่างพวกเขาเสมอ แม่บอกฉันว่า ลูกจำเป็นต้องไป เดี๋ยวแม่จัดการพวกเขาเอง’”

เป็นเพราะความศรัทธาของแม่ที่ทำให้เธอก้าวผ่านอุปสรรคด่านแรกๆ และย้ายไปอยู่เมือง Bhopal ซึ่งห่างจากบ้านถึง 800 กิโลเมตร พูจา ใช้ความเชื่อมั่นของแม่เป็นแรงผลักดัน เธอฝึกซ้อมอย่างหนักและทุกวัน

“ในช่วงแรก ฉันต้องเจอกับความยากลำบากมากมาย แต่เมื่อแม่อุตส่าห์ส่งฉันมาถึงที่นี่แล้ว ฉันต้องตอบแทนเธอและจะยอมแพ้ไม่ได้”

“ทุกคนมักจะกลับมาที่ห้องพักหลังจากซ้อมในช่วงเช้า แต่ฉันจะออกไปวิ่งต่อในช่วงบ่าย จึงรู้สึกว่ามีเวลาไม่มากที่จะทำอย่างอื่น”

ความมุมานะส่งผลให้ พูจา ประสบความสำเร็จในฐานะนักกีฬาวูซู ด้วยการคว้าเหรียญรางวัลในระดับประเทศมากมาย และเป็นตัวแทนของประเทศอินเดียในการแข่งขันวูซูชิงแชมป์โลกอีกด้วย

จากนั้น พูจา ก็ตัดสินใจผันตัวเองมาเป็นนักกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน ซึ่งแต่ก่อนมันเป็นได้แค่เพียงความฝันเล็กๆ ของเด็กหญิงในชทบทคนนี้เท่านั้น

India's Pujar Tomar prepares for battle

ปัจจุบัน พูจา มีโอกาสขึ้นสังเวียนระดับโลก ต่อหน้าผู้คนนับหมื่นนับพันเต็มความจุของสนาม และผู้คนนับล้านที่รับชมผ่านสื่อต่างๆ เธอยอมทิ้งบ้านและครอบครัวไว้เบื้องหลังตั้งแต่ยังเด็ก แต่การตัดสินใจทั้งหมดก็ออกดอกออกผลอย่างงดงาม

ชัยชนะที่ อิมแพ็ค อารีน่า ในวันศุกร์ที่ 10 มกราคมนี้ จะยกระดับอาชีพและชื่อเสียงของเธอไปอีกขั้น และอาจเป็นรางวัลสำหรับการสนับสนุนอย่างไม่สิ้นสุดของแม่ และการเสียสละของตัวเธอเอง

“แม่ของฉันคอยกระตุ้นให้ฉันฝึกซ้อมหนักขึ้นเสมอ และตอนนี้ทุกๆ คนในครอบครัวก็เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้ฉันยืนหยัดในกีฬานี้ต่อไป อย่างไม่ยอมแพ้”

อ่านเพิ่มเติม: “พูจา โทมาร์” รับสู้ศึก “แสตมป์” คือศึกใหญ่ที่สุดในชีวิต

ONE: A NEW TOMORROW อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี | 10 มกราคม 2563 | 17.30 น. ตามเวลาไทย | ซื้อบัตรเข้าชม: ไทยทิคเก็ตเมเจอร์  | ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ออกอากาศเวลา 22.30 น.

ดูเพิ่มเติมในหมวด บทความ

NL 1852
Jonathan Haggerty Superlek Kiatmoo9 ONE 168 65
Superlek Kiatmoo9 vs Takeru Segawa ONE 165 (17)
ONE167 Kade Ruotolo VS Blake Cooper (20)
Jonathan Haggerty Superlek Kiatmoo9 ONE 168 80
Anatoly Malykhin Oumar Kane ONE 169 78
1860141 (1)
Lumpinee Bonus 1920x1080px
Lumpinee Contract 1920x1080px
Kiamrian Abbasov Christian Lee ONE on Prime Video 4 1920X1280 34
1820285
11 Anatoly Malykhin VS Oumar Kane one 169 (33)