ความพ่ายแพ้ครั้งแรกสร้างแรงบวกให้ “ออง ลา” ลุกขึ้นมาเอาชนะตัวเอง
เรื่องราวของแชมป์โลกหลายคนมักเริ่มต้นด้วยชัยชนะในการแข่งขันครั้งแรก ที่กลายเป็นไฟในการผลักดันให้พวกเขามุ่งมั่นที่จะไขว่คว้าความสำเร็จในครั้งต่อๆ ไป แต่สำหรับ “ออง ลา เอ็น ซาง” เขาไม่มีโชคในเรื่องนี้เอาเสียเลย ความพ่ายแพ้ตั้งแต่ครั้งแรกต่างหากที่เป็นเงื่อนไขให้เขาพยายามที่จะฝ่าฟันมันไปให้ได้
หนึ่งปีให้หลังจากที่เขาเดินทางออกจากประเทศบ้านเกิดที่เมียนมาเมื่อปี พ.ศ.2547 เพื่อไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกาในสาขาวิทยาศาสตร์การเกษตร ที่มหาวิทยาลัยแอนดรูว์ ใน เบอร์เรียนสปริงส์ รัฐมิชิแกน เขาสังเกตเห็นเพื่อนร่วมชั้นชาวซามัวร่างใหญ่กำลังชกกระสอบทรายอย่างหนักหน่วงในโรงยิมของมหาวิทยาลัย
ด้วยความสนใจ เขาผูกมิตรกับเพื่อนคนนั้นอย่างรวดเร็ว และในอีกไม่กี่วันถัดมาทั้งคู่ก็ไปที่โรงยิมในเครือของ คาร์ลสัน เกรซี ทางเซาท์เบนด์, อินเดียนา ด้วยกัน และ ออง ลา ก็ตกหลุมรักวิชาบราซิลเลียนยิวยิตสู และศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานขึ้นมาทันที
เจ้าของฉายา “The Burmese Python” ใช้เวลาเดินทางราว 45 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อไปฝึกฝน “ศาสตร์แห่งการต่อสู้อันอ่อนโยน (gentle art)” รวมถึงวิชาต่อสู้แขนงอื่นๆ เวลาผ่านไปหนึ่งปี ออง ลา ตัดสินใจที่จะเทิรน์โปรและขึ้นสังเวียนแข่งขัน ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2548 ซึ่งตรงกับวันเกิดปีที่ 20 พอดี
การแข่งขันจัดขึ้นที่ แฮมมอนด์ ซีวิค เซ็นเตอร์ ซึ่งจุผู้ชมได้ 4,500 ที่นั่ง ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียนา มีชื่องานว่า “Total Fight Challenge 3” หรือ “TFC 3″ ซึ่งความน่าสนใจของงานคือการมาของ “Angel” มิเกล ทอร์เรส นักกีฬารุ่นแบนตัมเวตที่เป็นผู้รุ่นบุกเบิกของอเมริกา
คืนนั้น ออง ลา ต้องเผชิญหน้ากับ “อีเมอร์สัน รัชชิง” นักมวยปล้ำที่ผ่านรอบคัดเลือกในระดับรัฐของอเมริกา จากชมรมมวยปล้ำโรงเรียนมัธยม Bradley-Bourbonnais Community High School ซึ่งลงแข่งอยู่ในทีมโรงเรียนเดียวกันกับ “ไบรอัน อีเบอร์โซล” ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าโค้ชที่ อีโวลฟ์ เอ็มเอ็มเอ โดยก่อนลงแข่งขันครั้งนี้ อีเมอร์สัน รัชชิง เคยลงแข่งมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อห้าปีก่อน และคว้าชัยชนะตั้งแต่ยกแรกด้วยซับมิชชัน
ออง ลา ไม่เพียงแต่ขาดประสบการณ์และความชำนาญในการต่อสู้ แต่เขายังเสียเปรียบด้านร่างกายอย่างเห็นได้ชัด ด้วยน้ำหนักราว 90.7 กิโลกรัมในตอนนั้น ขณะที่ อีเมอร์สัน ลดน้ำหนักลงมาในรุ่นไลต์เฮฟวีเวต (93.1 หรือมากกว่า) ดังนั้นแค่น้ำหนักก็ผิดกันอยู่มากโข
เมื่อ ออง ลา ขึ้นสังเวียนเปิดตัวนัดสำคัญ ความประหม่าก็ถาโถมเข้ามาจู่โจมเขาอย่างจัง ไม่ใช่เพราะฝูงชนที่มาดูอย่างหนาตา หรือความยำเกรงคู่ต่อสู้ แต่เป็นเพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตรงหน้าที่ส่งผลต่อจิตใจในเวลานั้น
“ในหัวของผมกำลังคิดว่า ‘กูกำลังมาทำอะไรที่นี่วะ’ และมันเป็นเวทีมวย ไม่ใช่ในกรง และเมื่อสัญญาณเริ่มดังขึ้น ในหัวผมก็เบลอไปหมด ผมไม่เคยได้รับการฝึกแบบจริงจังที่ถูกต้องเหมาะสม ดังนั้นผมจึงขึ้นไปโดยไม่มีแผนอะไรเลย แค่ไปอยู่ที่นั่นแล้วก็สู้”
นั่นคือสิ่งที่เขาทำหรืออย่างน้อยก็พยายามทำ
“เราจ้องกันอยู่ประมาณหนึ่งวินาที จากนั้นเขาก็รวบผมลงพื้น แล้วกระหน่ำผมเต็มที่ กรรมการสั่งแยกและเรียกแพทย์สนามมาดูอาการ โหนกแก้มผมบวมตุ่ย จนแพทย์สนามต้องสั่งยุติการแข่งขัน”
ไฟต์นั้นจบลงด้วยเวลา 2 นาทีกับ 24 วินาที ออง ลา ฉลองวันเกิดด้วยจุดเริ่มต้นบนเส้นทางนักสู้ และความพ่ายแพ้ตั้งแต่ครั้งแรก ถึงอย่างนั้นเขากลับไม่ได้มองมันว่าเป็นความสูญเสีย แต่เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีค่ามากมายมหาศาลในค่ำคืนนั้น
การเปิดตัวของ ออง ลา จึงเปรียบเสมือนการเดินลุยเข้ากองไฟ เขาต้องพบกับคู่ต่อสู้ที่ทั้งใหญ่กว่าและมีทักษะมากกว่า แต่เขาก็สามารถฟื้นสภาพจิตใจ ยอมรับความจริง และเรียนรู้ความผิดพลาด ใช้ความพ่ายแพ้เป็นพลังบวกที่จะเอาชนะตัวเอง และฝ่าฟันปัญหา อุปสรรค ความยากลำบากที่ต้องเผชิญ ซึ่งมันส่งผลสำเร็จให้เห็นใน 5 ไฟต์ต่อมาที่ ออง ลา เก็บชัยชนะได้ทั้งหมด และเดินทางมาจนถึงจุดสูงสุดในการเป็นฮีโร่ของเมียนมาจนทุกวันนี้ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนล้มแล้วลุกขึ้นมาสู้ใหม่ ตราบใดที่หัวใจไม่ยอมแพ้
อ่านเพิมเติม: