“ดอมินิก เลา” กับอาชีพพิธีกรในความจริงที่ไม่เหมือนฝัน
“ดอมินิก เลา” พิธีกรของ วัน แชมเปียนชิพ มีความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นนักดับเพลิง ไม่ก็นักบิน
“ผมต้องการที่จะเป็นนักดับเพลิง ผมชอบตอนที่ทุกคนวิ่งออกมาจากตึกที่มีเพลิงไหม้ ขณะที่พวกเขาวิ่งสวนเข้าไป นี่คือฮีโร่ในยุคสมัยใหม่”
“ส่วนนักบิน พวกเขาได้ทำงานที่เท่ที่สุดในโลก พวกเขาได้ขับเครื่องบินราคาหลายล้านดอลลาร์ ด้วยความเร็ว 50 ไมล์ต่อชั่วโมง เมื่อคุณเป็นนักบิน, วิถีการบิน, การลงแตะพื้นแบบราบรื่น, ทำให้เครื่องมั่นคง ทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับคนๆ เดียวที่ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ”
เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี เลา พบว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในอาคารที่มีเพลิงไหม้ หรือนั่งในห้องคนขับเครื่องบิน กลายเป็นว่าเขามายืนอยู่กลางสังเวียนวงกลมเหล็ก พร้อมกับไมโครโฟนในฐานะพิธีกรรายการ วัน แชมเปียนชิพ
แม้ว่าการเป็นพิธีกรบนเวทีจะไม่ได้อันตรายเหมือนกับการผจญเพลิง แต่มันก็มีความท้าทายในตัวเอง
“เมื่อกล้องออนแอร์ เราถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ได้ยินเสียงกองเชียร์ดังลั่นสนาม มีนักสู้สองคนอยู่คนละฝั่ง และนั่นก็คือความเร่งรีบ” พิธีกรวัย 38 ปีกล่าว
“ผมต้องมั่นใจว่า ผมประกาศชื่อนักกีฬาแต่ละคนอย่างถูกต้อง หากว่าไม่ใช่เพื่อหน้าที่การงานของผม ก็เพื่อแฟนๆ จากแต่ละประเทศที่นักกีฬาเป็นตัวแทนในการเข้าร่วมแข่งขัน”
เลา ไม่ใช่หน้าใหม่ของวงการพิธีกร เขาเริ่มงานในฐานะวีเจมาก่อน และเคยปรากฏตัวผ่านทาง E! News Asia และ Channel [V] Asia อยู่เป็นประจำ ล่าสุดเขาเป็นพิธีกรรายการ Asian Pop 40 ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา
พิธีกรชาวฮ่องกงเริ่มต้นอาชีพของเขาผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุ แต่เขาก็ไม่เคยคาดฝันมาก่อนว่า วันหนึ่งเขาจะได้มาเป็นพิธีกรบนเวทีของ วัน แชมเปียนชิพ ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านแห่งศิลปะการต่อสู้
“ไม่มีแม้แต่นิดเดียวเลยที่ผมจะคิดว่า ผมจะมาใส่สูท และขึ้นมาประกาศชื่อนักกีฬาที่แข็งแกร่งที่สุดของโลก”
อย่างไรก็ตาม นั่นคือสิ่งที่ทำให้ทุกคนรู้จัก เลา ภายใต้งานที่มีลักษณะคล้ายกับ “ฮาเวิร์ด ฟิงเคิล” โฆษกมวยปล้ำระดับตำนาน
สมัยอายุ 9 ขวบ เลา เคยได้ชมรายการที่มีชายร่างเล็ก ศีรษะล้าน มีหนวดเครา ใส่ชุดสูทสีดำและโบว์หูกระต่าย ขึ้นเวทีประกาศรายชื่อนักมวยปล้ำยอดนิยมอย่างเช่น ฮัลค์ โฮแกน และ อันเดร เดอะ ไจแอนท์
“ผมหลงรักเสียงเขา พอเขาก้าวขึ้นเวที เสียงของเขาก็ดังกังวานไปทั่วสนาม เรียกความสนใจจากทุกๆ คนได้”
ฟิงเคิล อาจไม่ได้เป็นผู้บุกเบิกวงการ แต่สิ่งที่ทำให้เขาโดดเด่นก็คือการเน้นคำว่า “new” เมื่อเขาประกาศชื่อนักมวยปล้ำที่เพิ่งคว้าแชมป์โลกมาครองได้
คล้ายๆ กัน เลา เองก็เป็นที่รู้จักจากวลีที่ว่า “Here we go!” วลีนี้มาโดยธรรมชาติ ระหว่างช่วงเปิดรายการ ONE เมื่อหลายปีก่อน และเขาก็ใช้จนติดปากมาถึงทุกวันนี้
ด้วยคำพูดท่อนนั้น มันดึงดูดแฟนๆ เข้าสู่สิ่งที่เขาให้คำนิยามว่า “โลกในตำนานของเหล่าฮีโร่”
“แฟนๆ คือความสำคัญอันดับแรกของผม ผมต้องปลุกความตื่นเต้นให้ชีวิต และต้องมั่นใจว่าพวกเราเชื่อมโยงถึงกัน”
“จากมุมมองของแฟนๆ จะเห็นว่ามีนักกีฬาสองคนเตรียมออกมาเผชิญหน้ากันอย่างกับเรื่องราวในจินตนาการ เมื่อผมก้าวขึ้นเวที ผมจึงต้องดึงความรู้สึกให้มันมีชีวิตขึ้นมา”
แม้ว่า เลา จะไม่เคยได้สัมผัสความฝันในวัยเด็กกับการเป็นนักผจญเพลิงหรือนักบิน แต่เขาก็ยังรู้สึกได้ว่างานพิธีกรมีความสำคัญ
“สิ่งที่คุณทำอยู่มันสำคัญต่อคนหนึ่งคน แม้ว่าจะมีแค่คนเดียวจากทั้งหมดนับพันที่ให้ความสนใจ คุณก็จำเป็นต้องทำหน้าที่ของคุณราวกับว่าทุกคนกำลังฟังอยู่”
คืนหนึ่งที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ หลังจากที่ไฟบนเวทีเริ่มสลัว เสียงเพลงเบาลง และเรื่องราวนักกีฬาทุกคนก็ได้ถูกลงบันทึกเรียบร้อย เลา ได้มายืนอยู่ข้างนอก มอลล์ ออฟ เอเชีย อารีน่า
เขากำลังเตรียมตัวขึ้นรถบัส และเมื่อเขาก้าวไป เขาก็ได้ยินเสียงแฟนๆ จากระยะไกลตะโกนว่า “Here we go!”
มันเรียกรอยยิ้มบนใบหน้าของพิธีกรรายนี้
“เหตุการณ์เหล่านั้นมันน่าจดจำมากๆ มันทำให้ผมได้ซึมซับว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นมันมีความสำคัญ”
แฟนๆ จะได้ยินเสียง เลา บนเวทีอีกครั้งในโอกาสที่ วัน แชมเปียนชิพ จะไประเบิดศึกที่นครโฮจิมินห์ เป็นนัดปฐมฤกษ์ในประเทศเวียดนาม ภายใต้ชื่อศึกว่า ONE: IMMORTAL TRIUMPH วันศุกร์ที่ 6 กันยายนนี้