บันทึกลับ “ทีมลาไคย์” จากศูนย์สู่สูงสุด

Mark Sangiao ADUX0354e web

เมื่อกล่าวถึงศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ในฟิลิปปินส์ ไม่มียิมไหนจะเทียบชั้น “ทีมลาไคย์” อันลือชื่อได้

โดยจุดเริ่มต้นของทีมนี้มาจากความจำเป็น เมื่อ “มาร์ค ซานเกียว” ซึ่งขณะนั้นเพิ่งได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์ปี 2001 ในกีฬาวูซู มาสด ๆ ร้อน ๆ ต้องรับผิดชอบหน้าที่หลายอย่างทั้งในฐานะโค้ช นักกีฬาอาชีพ และนักเรียน เขาต้องกลับไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพื่อให้จบการศึกษาปริญญาตรีในสาขาอาชญาวิทยา แถมยังรับหน้าที่เป็นหัวหอกนำทีมวูซูของมหาวิทยาลัย

ขณะเดียวกันกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสานได้ถูกนำเข้ามาสู่สังคมฟิลิปปินส์ และ มาร์ค รู้สึกสนใจกีฬาใหม่นี้ ด้วยความปรารถนาที่จะใช้ทักษะวูซูผนวกเข้าด้วยกัน เขาจึงฟอร์ม “ทีมลาไคย์” ขึ้นมา และเทียนเล่มแรกก็ถูกจุดขึ้นอย่างเป็นทางการ

 

จุดเริ่มต้นทีมลาไคย์

Mark Sangiao at the Team Lakay gym in Baguio City

มาร์ค ซานเกียว

 

“เราเริ่มกลุ่มของเราที่มหาวิทยาลัยในเมืองบาเกียวเมื่อปี 2546 มันเป็นเวลาเดียวกับที่ผมเริ่มลงแข่งการต่อสู้แบบผสมผสานใน URCC (Universal Reality Combat Championship) ซึ่งเป็นรายการแข่งขันระดับชาติฟิลิปปินส์ และผมต้องการสถานที่ฝึกซ้อมที่ไหนสักแห่ง นั่นเป็นเหตุผลที่เราตัดสินใจก่อตั้งยิมขึ้นมา”

เดิมทีทีมนี้มีชื่อว่า “ลาไคย์ วูซู” ประกอบด้วยนักกีฬาวูซูเป็นกลุ่มแรก พวกเขาไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นของทีม และในทางกฎหมายแล้วถือเป็นธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียน เมื่อมองจากภายนอกจึงดูเหมือนเป็นชมรมมากกว่านิติบุคคลตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ มาร์ค ลงแข่งขันไฟต์เปิดตัวโดยคว้าชัยแบบทีเคโอ.ในยกที่ 2 ในกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน เมื่อเดือนมีนาคม 2546 เขาก็ติดใจกีฬานี้จนถอนตัวไม่ขึ้น

 

 

ห่างจากเมืองบาเกียวประมาณ 250 กิโลเมตร “Landslide” เอดูอาร์ด โฟลายัง อดีตเพื่อนร่วมทีมวูซูของ มาร์ค ยังคงปักหลักกับการเป็นนักกีฬาทีมชาติวูซูอยู่ที่เมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์

เอดูอาร์ด สนใจกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสานอยู่เหมือนกัน จึงตัดสินใจร่วมเป็นหนึ่งในผู้นำทีมลาไคย์แบบไม่เต็มตัว เพราะเขายังคงให้ความสำคัญกับหน้าที่นักกีฬาทีมชาติเป็นอันดับหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ มาร์ค จึงจับมือกับประธานสหพันธ์วูซูฟิลิปปินส์ “โทนี คานเดลาเรีย” โดยหาก เอดูอาร์ด มีโอกาสเดินทางมาเมืองบาเกียว เขาก็จะได้ร่วมสอนอยู่บ้าง ไม่เช่นนั้นก็จะเป็น มาร์ค ที่รับเหมาสอนคนเดียวทุกวัน

 

Former ONE Lightweight World Champion Eduard Folayang kicks the bag

เอดูอาร์ด โฟลายัง

 

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อ เอดูอาร์ด กลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในเมืองบาเกียวที่เดียวกับที่ มาร์ค ทำยิมอยู่ เขาก็เกิดความกระหายอยากลงแข่งในกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสานตามรอยเพื่อนบ้าง

ในไฟต์เปิดตัวของเขาเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 เอดูอาร์ด สามารถน็อก “อัลลัน โค” ได้ตั้งแต่ยกแรก และคว้าแชมป์ URCC รุ่นเวลเตอร์เวตมาครอง และหลังจากนั้นไม่นานกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสานก็เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นในฟิลิปปินส์ ทำให้เขาตัดสินใจที่จะเบนเข็มไปเอาดีในกีฬานี้อย่างเต็มตัว

 

เผชิญปัญหาหนัก

Team Lakay head coach talks to Eduard Folayang during an outdoor practice

 

เมื่อกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสานเริ่มเป็นที่จับตา ก็กลายเป็นปัญหาสำหรับสหพันธ์วูซูฟิลิปปินส์ โดยทางสหพันธ์ต้องการโฟกัสไปที่กีฬาวูซูเท่านั้น และเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง จึงจำเป็นต้องแยกตัวกันในปี 2549

มาร์ค จึงเปลี่ยนชื่อทีมจาก “ลาไคย์ วูซู” เป็น “ทีมลาไคย์” โดยจดทะเบียนเป็นธุรกิจในปีนั้นทันที และย้ายจากโรงยิมของมหาวิทยาลัยไปยังชั้นบนของร้านขายเนื้อซึ่งตั้งอยู่ที่ตลาดในเมือง

“เราไม่มีเบาะ ซึ่งมันเป็นอุปสรรคสำคัญในการฝึกปล้ำจับล็อก มันเป็นอุปสรรคในช่วงแรก ๆ จุดกำเนิดของความเจ็บปวด เราเริ่มต้นจากศูนย์จริง ๆ”

 

Eduard Folayang takes a rest after a run

 

ระหว่างที่บริหารทีม มาร์ค ก็ลงแข่งขันไปด้วย จนได้เป็นแชมป์ระดับชาติ นำมาซึ่งนักเรียนในยิมที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็อยู่ได้ไม่นานนักเรียนก็หายไป

“ตอนนั้นผมเป็นแชมป์ URCC รุ่นแบนตัมเวต ทุกครั้งที่ผมไปแข่งและกลับมาที่ยิม จะมีคนขอมาฝึกกับพวกเรามากมาย ช่วงนั้นยิมก็จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คน แต่ผ่านไป 2-3 เดือน ก็กลายเป็นยิมร้างเหมือนเดิม นี่แหละเรื่องราวของเรา ไปแข่งกลับมา ได้นักเรียนกลับมา แต่อยู่กับเราไม่นานก็กลับมาว่างเปล่า”

ทีมลาไคย์ ประสบปัญหาการเงินอยู่เนือง ๆ แม้จะมีเงินรางวัลจากการแข่งขันในท้องถิ่นมาซัปพอร์ตบ้าง แต่ก็ไม่มากพอที่จะให้นักกีฬาเลี้ยงชีพของตัวเองและครอบครัวได้จากการแข่งขันเพียงอย่างเดียว 

 

Team Lakay athletes relax in the gym

 

ในขณะที่ มาร์ค มีสถานะเป็นแชมป์ URCC เขาก็ยังรับหน้าที่เป็นครูสอนวิชาอาชญาวิทยาขั้นพื้นฐานที่มหาวิทยาลัย และเป็นโค้ชให้กับทีมวูซู แต่ถึงอย่างนั้นรายได้ก็ยังไม่พอ

“นี่ไม่ใช่เรื่องตลก ผมเคยถังแตกขนาดที่ว่าไม่มีเงินค่ารถไปสอนที่ยิม ผมต้องวิ่งไปแล้วก็วิ่งกลับบ้าน เรามีปัญหาการเงิน แต่เรายังมีครอบครัวที่ต้องดูแล มันลำบากจริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของผม เพราะผมเป็นคนที่ต้องบริหารจัดการยิมทั้งหมด”

“แต่อาจเป็นเพราะความหลงใหลในการต่อสู้ จึงทำให้ผมมีกำลังใจที่จะสอนต่อไป แทนที่จะหันไปทำงานอื่นเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว”

 

ตัดสินใจครั้งใหญ่

Joshua Pacio Mark Sangiao ADUX0229e web.jpg

 

ยิ่งเวลาผ่านไป การรักษาเปลวเทียนใกล้มอดก็ยิ่งยากลำบาก แต่ มาร์ค ยังเชื่อมั่นในแรงปรารถนาที่ขับเคลื่อนเขาไปข้างหน้า เขาจึงรวบรวมกองทัพนักกีฬาในสถานศึกษาที่มีพื้นฐานวูซูมาร่วมทีม

ไม่ช้าทีมของ มาร์ค ก็กลายเป็นผู้นำในวงการศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน เพราะเหล่านักกีฬาในทีมทั้ง เอดูอาร์ด, โฮโนริโอ บานาริโอ, เจเฮ อุสตาคิโอ, เควิน เบลิงกอน ต่างก็ได้เข็มขัด URCC มาคาด และสร้างชื่อให้ทีมลาไคย์อย่างล้นหลาม

ผู้นำของทีมอย่าง มาร์ค ซึ่งขณะนั้นอายุ 29 ปี ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นของอาชีพนักสู้ กำลังตกอยู่ในสถานการณ์เหยียบเรือสองแคม ทั้งในฐานะนักกีฬา และโค้ชของทีม ที่ต้องให้การสนับสนุนและช่วยเหลือนักกีฬาทุกคน

“มีนักเรียนทยอยกันเข้ามา ผมต้องโฟกัสไปที่การสอนและเป็นโค้ช แน่นอนว่าการตัดสินใจแขวนนวมมันยาก ร่างกายของผมยังกระหายที่จะขึ้นสังเวียนอยู่ แต่ผมโฟกัสกับการสอนได้ไม่เต็มที่ จึงต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการเป็นโค้ช กับนักกีฬา และผมเลือกที่จะเป็นโค้ช”

Team Lakay ADUX9726e web.jpg

 

การเป็นผู้นำในวงการศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานในฟิลิปปินส์ ทำให้ ทีมลาไคย์ กลายเป็นที่สนใจของผู้จัดการแข่งขันทั่วเอเชีย แต่สุดท้ายผู้เปลี่ยนเกมตัวจริงคือ “วิกเตอร์ คุย” ผู้ดำเนินการจัดการแข่งขันศิลปะการต่อสู้ที่มีฐานอยู่ที่สิงคโปร์ ที่ซึ่ง เอดูอาร์ด สร้างผลงานชนะต่อเนื่อง 3 ครั้ง แถมยังคว้าแชมป์ของรายการในไฟต์ที่สองที่เขาลงแข่งขัน

ในเดือนกรกฎาคม 2554 วิกเตอร์ คุย จับมือกับ ชาตรี ศิษย์ยอดธง” เปิดตัว วัน แชมเปียนชิพ และเซ็นสัญญาให้ เอดูอาร์ด เข้าเป็นนักกีฬาในสังกัด โดยคนอื่น ๆ ก็ทยอยกันตบเท้าเข้ามาในภายหลัง

ไม่กี่ปีหลังจากนั้นชื่อเสียงของ ทีมลาไคย์ ก็พุ่งกระฉูด ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องขยายยิมเพิ่มเป็นแห่งที่สอง และผลิตฮีโร่ระดับชาติ พร้อมกับเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานชาติฟิลิปปินส์

 

กระหึ่มใน ONE

Four Team Lakay World Champions with Mark Sangiao

 

ในปี 2556 โฮโนริโอ นั่งแท่นแชมป์โลก ONE รุ่นเฟเธอร์เวตคนแรก หลังเอาชนะเพื่อนร่วมชาติ “The Natural” อีริค เคลลี ในเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมได้รับการยกย่องให้เป็นแชมป์โลกกีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานคนแรกของฟิลิปปินส์ แต่น่าเสียดายที่เขาต้องเสียตำแหน่งในการป้องกันครั้งแรก

ด้าน เอดูอาร์ด โชว์ฟอร์มสุดเดือด น็อกไอคอนแห่งวงการศิลปะการต่อสู้ชาวญี่ปุ่นอย่าง “Tobikan Judan” ชินยะ อาโอกิ และคว้าแชมป์โลก ONE รุ่นไลต์เวตมาครองในเดือนพฤศจิกายน 2559 ก่อนจะทำเข็มขัดหลุดมือในอีกหนึ่งปีต่อมา แต่ก็แย่งกลับคืนมาได้อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

ในปีเดียวกัน เจเฮ ก็กระชากเข็มขัดอริเก่าชาวบราซิล “Mikiniko” อาเดรียโน โมราเอส นั่งบัลลังก์แชมป์โลก ONE รุ่นฟลายเวต ในเดือนมิถุนายน 2561

ส่วนหนุ่มไฟแรง “The Passion” โจชัว พาซิโอ ก็กำราบเจ้าตำนานชาวญี่ปุ่น “Nobita” โยชิตากะ นาอิโตะ และคว้าตำแหน่งแชมป์โลก ONE รุ่นสตรอว์เวตมาครองในเดือนกันยายนปีเดียวกัน

นอกจากนั้น เควิน ได้ล้างแค้นคู่ปรับเก่าชาวบราซิล “The Flash” บิเบียโน เฟอร์นานเดส ด้วยการขึ้นท้าชิงตำแหน่งแชมป์โลก ONE รุ่นแบนตัมเวต ในอีกสองเดือนให้หลัง และแย่งเข็มขัดมาครอง

ทีมลาไคย์ จึงฉลองส่งท้ายปี 2561 ด้วยการครอบครองเข็มขัดแชมป์โลก ONE ถึง 4 เส้นในเวลาเดียวกัน ซึ่งมันตอบแทนความมานะพยายามของ มาร์ค ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

“ผมไม่เสียดายเลย โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาได้เข็มขัดในการแข่งขันระดับนานาชาติได้มากมายขนาดนี้ ผมยินดีกับพวกเขา เขารู้สึกอย่างไร ผมก็รู้สึกอย่างนั้น ผมรู้สึกว่าตัวเองก็ได้รับชัยชนะนั้นเช่นเดียวกัน”

 

อนาคตคือตอนนี้

Joshua Pacio and Danny Kingad train at Team Lakay

 

มาร์ค ซานเกียว และ เอดูอาร์ด โฟลายัง วางรากฐานให้กับ ทีมลาไคย์ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา บัดนี้เหล่านักสู้เลือดใหม่กำลังเดินหน้าออกอาละวาดกวาดความสำเร็จ

แม้ในวันนี้ ทีมลาไคย์ จะเหลือเข็มขัดประดับค่ายเพียงเส้นเดียว แต่เมื่อมองย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยต้องขอแบ่งพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ไปจนถึงการผลิตแชมป์โลกจากสถานที่ฝึกแสนกระจอกบนชั้นสองของร้านขายเนื้อ นับว่า “ทีมลาไคย์” มาได้ไกลมากทีเดียว

“นี่คือผลจากการทำงานหนักของเรา เรามองหาโอกาสนี้มาตลอด และไม่รู้ว่าเวลาไหนมันถึงจะมา แต่มันจะไม่เกิดขึ้นถ้าเราไม่มีวิสัยทัศน์ในตอนนั้น” 

 

 

“เราไม่เคยหยุดเรียนรู้ และค้นหาสเต็ปต่อไปในอนาคต ถ้าเราบรรลุสิ่งใดแล้ว เราจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น เราต้องเดินหน้าต่อไป และคิดถึงสิ่งที่นักกีฬาของเราต้องการ”

แม้แต่ตอนที่อะไร ๆ ไม่เป็นใจ มาร์ค และ เอดูอาร์ด รวมถึงสมาชิกในทีมลาไคย์ ต่างพยายามรักษาเปลวเทียนนี้ไม่ให้มอดดับ ความหลงใหลของพวกเขาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงแรงปรารถนาที่มีต่อศิลปะการต่อสู้ และเมื่อเรื่องราวของพวกเขาถูกนำมาเล่าขาน มันย่อมหมายถึงว่า เทียนเล่มนั้นยังคงส่องสว่างอยู่นั่นเอง

 

อ่านเพิ่มเติม: 

ดูเพิ่มเติมในหมวด บทความ

Kiamrian Abbasov Christian Lee ONE on Prime Video 4 1920X1280 34
1820285
11 Anatoly Malykhin VS Oumar Kane one 169 (33)
06 Rungrawee vs George Jarvis OL85 (2)
06 Parham Gheirati vs George Mouzakitis (32) OL84
OFN13 Marcus Almeida VS Oumar Kane (1)
OL75_03 Shir Cohen VS Francisca Vera (25)
youssef assouik 16 9
Thai champs cover update
OL58 Seksan vs Yutaro Asahi (62)
Jonathan Haggerty vs Felipe Lobo OFN19 (52)
Shadow Mom