ยอดมวย “สามเอ” กับอดีตวิถีกรรมกรที่สร้างบทเรียนชีวิตต้องสู้
เนื่องด้วยวันแรงงาน ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ทำให้เรานึกไปถึงนักมวยดีกรีแชมป์โลกคนหนึ่ง ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นยอดมวยชาวไทยผู้เป็นเพชรเม็ดงามประดับวงการมวยบ้านเรา
ในอดีตเขาเคยผ่านชีวิตกรรมกร ผู้ใช้พลังกายตรากตรำทำงาน อาชีพที่ถูกมองว่าเป็นแรงงานระดับล่าง แต่พวกเขาเหล่านั้นก็มีส่วนสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ทั้งตึกรามบ้านช่อง วัดวา อาคาร ก็ล้วนมาจากฝีมือแรงงานกลุ่มนี้
“สามเอ ไก่ย่างห้าดาว” คือนักมวยที่เรากำลังเอ่ยถึง ย้อนไปสมัยนักสู้หนุ่มจากบุรีรัมย์ อายุ 17 ปี เข้ามาชกมวยในเมืองกรุงที่สนามมวยเวทีลุมพินีเป็นครั้งแรก เขาสั่งสมชัยชนะจนได้โอกาสขึ้นชิงแชมป์
ตอนชกปกติ สามเอ ชนะได้ แต่พอชิงแชมป์ทีไร เป็นอันต้องพ่ายแพ้ทุกครั้ง ได้ชิงแชมป์ 3 ครั้งใน 3 รุ่นน้ำหนัก สามเอ ไม่เคยได้เป็นแชมป์เลย จนเจ้าตัวคิดว่าชาตินี้คงไม่มีวาสนาเหมือนอย่างใครเขา
เวลาผ่านไปร่วม 4 ปี จน สามเอ อายุ 21 ปี เขาได้ชิงแชมป์อีกครั้งในรุ่น 115 ป.ที่ว่าง และสามารถเอาชนะ “เพชร ป.บูรพา” หรือที่หลายท่านคุ้นเคยในชื่อ “อำนาจ รื่นเริง” ซึ่งเคยชกด้วยกันมาหลายครั้ง เข็มขัดแชมป์จากสนามมวยมาตรฐานของประเทศไทยถูกพาดอยู่ที่เอวเป็นเส้นแรกในชีวิต
หลายคนอาจคิดว่า สามเอ กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่มันกลับตรงกันข้าม ค่ายที่ สามเอ ซ้อมอยู่ช่วงนั้นประสบปัญหาขาดเทรนเนอร์ ทำให้เขาต้องซ้อมอยู่คนเดียว และนอนกอดเข็มขัดแชมป์อยู่ 3-4 เดือน
เมื่อต้องป้องกันแชมป์ครั้งแรก สามเอ ก็เสียเข็มขัดทันที นี่ล่ะที่ใครเขาพูดกันว่า การเป็นแชมป์ว่ายากแล้ว แต่การรักษาแชมป์นั้นยากยิ่งกว่า
“พอที่ค่ายมีปัญหา ผมก็พลอยหมดกำลังใจ จึงตัดสินใจไปทำงานอื่น ทั้งงานโรงงาน โรงกลึง ทำเฟอร์นิเจอร์ แล้วก็งานก่อสร้างตกแต่งที่คนเขาเรียกงานกรรมกรนี่ล่ะครับ”
“ผมต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง เลิกสามทุ่ม ตอนเที่ยงซื้อข้าวถุงละ 5 บาท แกงอีก 10 บาท ทำอย่างนี้ทุกวัน ถ้าวันไหนซื้อของกินอย่างอื่น วันต่อไปก็ไม่มีตังค์ ยอมรับว่าเหนื่อยและท้อในการทำงาน เงินได้น้อย ไม่พอแบ่งให้พ่อแม่ได้ใช้เลยครับ”
“ตอนชกมวยนั่งแท็กซี่ไปสบาย พอทำงานก่อสร้างต้องขึ้นรถเมล์ฟรี บางที 2-3 กิโลเมตรผมต้องเดินไป มันไม่มีทางเลือก ผมกลับมานอนคิด ร้องไห้ตลอด มันเหนื่อย ลุกไม่ไหวแต่ก็ต้องลุก เพราะถ้าเราไม่ทำงานก็ไม่มีเงิน แล้วจะเอาอะไรกิน มันเป็นช่วงที่ลำบากที่สุดในชีวิต”
“ตอนเลิกงานผมนั่งรถกลับบ้านผ่านเวทีลุมพินี ผมเห็นรูปผมบนป้ายที่เขายังไม่ได้เอาออก ผมเห็นเซียนมวย ผมต้องหลบนะ ผมไม่อยากให้เขาเห็นว่านักมวยที่เคยเป็นแชมป์มาทำงานแบบนี้ สงสารตัวเอง สงสารพ่อแม่ที่ไม่สามารถให้เงินแกได้”
ความทุกข์ยากลำบากในชีวิตช่วงนั้นกินเวลาอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่ สามเอ จะตัดสินใจหวนกลับสู่สังเวียนผืนผ้าใบ
เขาย้ายไปซ้อมมวยอยู่กับพ่อตาซึ่งเป็นอดีตนักมวยดัง “ปืนไทย ปิ่นสินชัย” ก่อนจะย้ายมาอยู่กับค่ายเพชรยินดีอะคาเดมี เมื่ออายุ 28 ปี ในปี พ.ศ.2554
สามเอ สั่งสมชื่อเสียงจนกระทั่งเป็น “สามเอ ไก่ย่างห้าดาว” ผู้มีประสบการณ์บนสังเวียนมากกว่า 400 ไฟต์ และเป็นเจ้าของเข็มขัดแชมป์โลก ONE สองเส้นในวันนี้
“ชีวิตในช่วงที่เป็นกรรมกรนั้น มันอาจไม่มีค่าสำหรับใคร แต่สำหรับผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง คนเราต้องมีความอดทนและมีสติในการใช้ชีวิต ถ้าเรามัวแต่ท้อและโทษโชคชะตา ชีวิตเราก็จะเดินไปข้างหน้าไม่ได้”
“เราต้องลุกขึ้นสู้ ไม่ใช่แค่บนสังเวียน แต่ในชีวิตจริงด้วยครับ”
อ่านเพิ่มเติม:
- วัน แชมเปียนชิพ เผย “อันดับนักกีฬา” อย่างเป็นทางการครั้งแรก
- เขยใหญ่-เขยเล็ก จับมือเปิดค่าย “สามเอ&ซุปเปอร์เล็กมวยไทย”
- “สามเอ” ยกสิงคโปร์เหมือนบ้านหลังที่สอง ชีวิตเริ่มต้นไม่ง่าย แต่สุขใจได้ทำงานที่รัก
- ยิมปิดไม่หยุดฟิต!! กับคลาสสอนการต่อสู้ออนไลน์ฟรีจากครูดีกรีแชมป์โลก
- Throwback Thursday: จำจนตายไฟต์นี้ที่ทำให้ “แสงมณี” ดั้งหัก!