รู้จัก “เซจ นอร์ธคัท” นักสู้ชื่อดังจากฝั่งอเมริกา ในแบบที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
คนไทยที่ติดตามการแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) จากฝั่งอเมริกา น่าจะรู้จักชื่อของ “Super” เซจ นอร์ธคัท เป็นอย่างดี ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะมาเซ็นสัญญากับ วัน แชมเปียนชิพ เสียอีก
เซจ เป็นนักสู้หนุ่มที่อายุน้อยเพียง 22 ปี แถมรูปร่างหน้าตาหล่อเหลาตามแบบฉบับของหนุ่มสาย ฝ. ด้วยอายุเพียงเท่านี้แต่มีดีกรีแชมป์คาราเต้หลายสมัยติดไม้ติดมือ ยากจะหาคนในวัยเดียวกันมาเทียบชั้นได้
ครอบครัวนักสู้
หากจะกล่าวว่า เซจ เกิดมาเพื่อศิลปะการต่อสู้ อันหยั่งรากลึกมาตั้งแต่สมัยบรรพบรุษ ก็คงไม่เกินความจริง
“มาร์ก นอร์ธคัท” พ่อของ เซจ เป็นอดีตนักคาราเต้สายดำ เขาถ่ายทอดวิชาศิลปะการต่อสู้ให้กับลูกทั้งสามคนตั้งแต่อายุยังน้อย โดย โคลเบย์ พี่สาวคนโต เริ่มเรียนคาราเต้เมื่ออายุ 7 ขวบ ขณะที่ เซจ และ ชอว์น น้องชาย เริ่มเรียนตอน 4 ขวบ
พ่อกับแม่ของ เซจ สร้างยิมขนาดย่อมๆ ในบ้านเพื่อให้ลูกๆ ได้ฝึกศิลปะการต่อสู้ร่วมกัน โดยมีผู้เป็นพ่อรับอาสาเป็นโค้ชให้กับพวกเขามาตลอดทั้งชีวิต ทุกไฟต์ ทุกทัวร์นาเมนต์ ไม่ว่าจะแข่งขันคาราเต้ หรือมวยปล้ำก็ตาม
สมัย เซจ อายุได้ 6 ขวบช่วงที่ยังไม่เข้าเรียนประถมด้วยซ้ำ แต่ตอนนั้นบนเส้นทางนักสู้ เซจ ไปไกลถึงระดับนานาชาติแล้ว ด้วยการปูทางและคำแนะนำจากพ่อ ซึ่งเป็นทั้งโค้ช เป็นเมนเทอร์ และต้นแบบในการดำเนินชีวิต
เซจ จึงเป็นนักกีฬาเด็กที่มีความโดดเด่น และประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ จนกระทั่งเขาเติบโตขึ้น
“เราลงแข่งขันและได้รับชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่แชมป์โลกครั้งแรก ครั้งที่สอง พ่อกับแม่จะแขวนโล่และถ้วยรางวัลไว้ที่กำแพง เพื่อให้มันเป็นเครื่องเตือนใจของพวกเราถึงความสำเร็จที่พวกเราได้ทุ่มเทกันมา มันเป็นประสบการณ์ที่แจ่มสุดๆ สำหรับผมในช่วงนั้นเลย”
เรียนเก่ง กีฬาเลิศ
ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ เซจ เรียนรู้วิชาเทควันโด พอถึงอายุ 12 เขาก็หันไปฝึกบราซิลเลียนยิวยิตสู และตามมาด้วยการเรียนมวยปล้ำตอนสมัยมัธยมปลายเพียงแค่เทอมเดียว มันทำให้เขาก้าวกระโดดมาไกลถึงการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ในระดับรัฐ ซึ่งเขาได้รางวัลที่ 5 ในตอนนั้น
เซจ ลิ้มรสชาติของคำว่า “ชัยชนะ” มากขึ้นเรื่อยๆ และเขาติดใจมันชนิดหัวปักหัวปำ เช่นเดียวกับการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น
“สิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ก็คือ การได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ที่แตกต่างอยู่เสมอ ซึ่งมันทำให้ผมพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นและเก่งขึ้น”
“พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ แม้คุณได้รู้จักทุกกระบวนท่าของคาราเต้ ทั้งการเตะ การต่อย แต่เมื่อคุณต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่ง คุณก็จะได้เห็นอะไรที่แตกต่างจากเขาอยู่ดี เช่น สไตล์การต่อสู้, ความเร็ว, พละกำลัง หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวก็ต่างกันแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้เองมันทำให้ผมไม่เคยรู้สึกเบื่อ แถมยังเป็นสิ่งที่ดึงดูดผมให้อยู่ตรงนี้ด้วยซ้ำ”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เซจ และครอบครัวได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อลงสนามแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ทั้งในประเทศรัสเซีย โครเอเชีย และไอร์แลนด์ เพื่อสั่งสมประสบการณ์ รวมถึงถ้วยรางวัลมากมายที่เป็นความภูมิใจของครอบครัว
แม้ เซจ จะมีความสุขและรู้สึกสนุกกับเส้นทางนักสู้ แต่พ่อกับแม่ก็ไม่ยอมให้เขาละเลยเรื่องการเรียนในโรงเรียนเป็นอันขาด อันที่จริง เซจ กลับเรียนอยู่ในระดับท็อปมาตลอดจนกระทั่งถึงมัธยมปลาย ทั้งยังสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เท็กซัส A&M ในสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียมได้ด้วย
ถ้าไม่ใช่เพราะความหลงใหลและแรงปรารถนาอย่างแรงกล้าที่มีต่ออาชีพนักศิลปะการต่อสู้แล้ว ป่านนี้ เซจ อาจเป็นวิศวกรปิโตรเลียมไปแล้ว
อุปสรรคจากการเจ็บป่วย
ตลอดการเดินทางบนสายนี้ ตั้งแต่การลงแข่งขันคาราเต้ในวัยเด็ก จนกระทั่งสำเร็จในฐานะนักศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ระดับสูงอย่างในปัจจุบัน เซจ ลิ้มรสความพ่ายแพ้เพียง 2 ครั้ง ซึ่งความพ่ายแพ้นี้เองที่เป็นบทเรียนอันมีค่าให้กับชีวิต และทำให้เขามองเห็นอุปสรรคสองอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างทาง
อย่างแรกคือ เขาไม่สามารถทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมอย่างเต็มที่เลยในช่วงก่อนปีที่ผ่านมา เพราะห่วงเรียนก็ห่วง แถมจะเป็นนักสู้อาชีพด้วย เข้าทำนองรักพี่เสียดายน้อง เหยียบเรือสองแคม จึงทำให้เขาไม่อาจเลือกเดินทางใดทางหนึ่งได้อย่างเต็มที่
และอย่างที่สองคือ เขาเกิดป่วยหนักขึ้นมาในช่วงนั้น
“ความพ่ายแพ้สองครั้งในชีวิต มันมาจากที่ผมตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกการเรียน หรือการฝึกซ้อม แถมยังมาป่วยหนัก ต้องผ่าเอาต่อมทอนซิลออก”
“อาการผมหนักขนาดที่ว่า แค่ออกไปวิ่งในตอนกลางคืนก็ยังยาก ยกน้ำหนักก็ลำบาก หรือแม้แต่ซ้อมเพียงแค่วันละ 1-2 ชั่วโมง ก็ทำให้ผมรู้สึกแย่ ร่างกายแทบจะฟื้นตัวไม่ได้ ซึ่งผมคิดว่ามันคือสิ่งที่หนักหนาที่สุดในชีวิตของผมแล้ว”
บทเรียนจากความเจ็บป่วยในครั้งนั้นสอนให้ เซจ รู้ว่าเมื่อร่างกายส่งสัญญาณให้เขารับรู้บางอย่างจากความเจ็บป่วย ความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า หรืออาการอย่างหนึ่งอย่างใด เขาควรฟังเสียงร่างกายของตัวเอง รอให้มันพักฟื้นแล้วจึงเริ่มใหม่โดยไม่ฝืนหรือหักโหมจนเกินไป
เส้นทางที่ห้อมล้อมด้วยความสำเร็จ
เส้นทางนักสู้ของ เซจ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สมัยเขาเป็นเด็ก เดินสายแข่งขันไปรอบโลก และสั่งสมชัยชนะมาเรื่อยๆ นับจำนวนความสำเร็จกับการเป็นแชมป์โลกคาราเต้ได้ถึง 77 ครั้ง…ย้ำอีกที….77 ครั้ง!!! พิมพ์ไม่ผิด ตาไม่ลาย มันน่าทึ่งและแทบไม่น่าเชื่อใช่ไหมล่ะ แต่นั่นมันคือความจริง!
ขณะที่เขาอายุย่างเข้า 16 ปี เซจ ได้ปรากฏตัวบนหน้าปกแมกกาซีนศิลปะการต่อสู้หลายหัว และได้รับเกียรติให้บรรจุชื่อลงในทำเนียบนักกีฬาเกียรติยศของ Black Belt Magazine
หนึ่งเดือนหลังจากวันเกิดปีที่ 18 เซจ ตัดสินใจเริ่มอาชีพนักศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน และเมื่ออายุ 19 เขาก็ไต่ขึ้นมาสู้กับบรรดายอดฝีมือในระดับนานาชาติได้
ปัจจุบันเขาฝึกซ้อมอย่างเต็มเวลากับโค้ชและทีมอัลฟา เมล ใน ซาคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเขาเชื่อว่าอีกไม่นานนับจากนี้เขาจะคว้าเข็มขัดแชมป์โลกมาครอบครองได้อีกเส้นจากเวทีระดับโลก วัน แชมเปียนชิพ
“ผมคึกสุดๆ ที่จะได้เดินทางไปทั่วโลกในฐานะนักกีฬาของ วัน แชมเปียนชิพ สิ่งที่ผมว่ามันสุดยอดและทำให้ผมตื่นเต้น ไม่ใช่แค่การที่จะได้แข่งขันในกติการศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน แต่ คุณชาตรี ศิษย์ยอดธง (ประธานและซีอีโอ วัน แชมเปียนชิพ) บอกว่าผมยังสามารถแข่งขันในกติกามวยไทยและคิกบ็อกซิ่งได้ด้วย”
“ผมเชื่อว่าผมจะได้เป็นแชมป์โลก วัน แชมเปียนชิพ ในกติกาใดกติกาหนึ่งแน่นอน”
อ่านเพิ่มเติม: