ศิลปะการต่อสู้นำ “โสวันนารี เอม” กลับคืนสู่รากเหง้า
เกือบหนึ่งปีหลังการเปิดตัวสุดร้อนแรงใน วัน แชมเปียนชิพ “The Sweet Savage” โสวันนารี เอม ก็พร้อมกลับคืนสู่สังเวียนอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคมนี้
นักสู้สาวไร้พ่ายชาวกัมพูชา-อเมริกัน จะเจอกับนักสู้น้องใหม่อย่าง “ราเยน บาสโตส” ในศึก ONE: MARK OF GREATNESS ที่ แอ็กเซียตา อารีน่า กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
แม้ยังเป็นช่วงเริ่มต้นของ โสวันนารี ในการเป็นนักกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน แต่ที่ผ่านมาเธอสร้างผลงานไว้อย่างน่าประทับใจกับการคว้าชัยชนะ 3 ไฟต์รวดแบบไม่ครบยก ด้วยเวลารวมทั้งหมดไม่ถึง 3 นาที
และก่อนที่เธอจะก้าวเข้าสู่สังเวียนวงกลมเหล็กในเมืองหลวงของมาเลเซีย ในคืนวันศุกร์นี้ เพื่อเจอกับนักสู้สาวเจ้าบ้านไร้พ่าย เรามาทำความรู้จักเธอให้มากขึ้นอีกสักนิด
รากฐานจากกัมพูชา
ตายายและแม่ของ โสวันนารี อพยพจากประเทศกัมพูชาไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงปี 2523 ก่อนที่เธอจะถือกำเนิดในอีกสองปีต่อมา ที่ลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นชุมชนของคนเชื้อสายกัมพูชาที่เก่าแก่และมีจำนวนมากที่สุดของประเทศ
สมัยเป็นเด็ก เธอสื่อสารกับคุณตาคุณยายด้วยภาษาพื้นเมือง ซึ่งทำให้สายสัมพันธ์ของเธอกับรากเหง้าแบบกัมพูชานั้นมีความแนบแน่น
“ตอนเด็กๆ คุณตาคุณยายเป็นคนเลี้ยงดูฉัน และพวกท่านก็พูดได้แต่ภาษาเขมรเท่านั้น ทำให้ฉันพูดเขมรเป็นตั้งแต่เด็ก แต่พอโตขึ้นก็หลงลืมไป แต่ถึงอย่างนั้นฉันก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของคนเขมรมาไม่น้อย จากการไปทำบุญที่วัด อาหาร และดนตรี”
ด้วยเหตุที่เธอลืมภาษาเขมรไปแล้ว ทำให้ระยะหลัง โสวันนารี แทบจะไม่ได้สื่อสารกับบรรพบุรุษของเธออีก และน่าเสียดายที่มันสายเกินกว่าจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ได้อีก
“ยิ่งฉันโตขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ย้ายออกจากลองบีช ฉันก็รู้ตัวว่าฉันห่างเหินจากความเป็นกัมพูชาไปมาก ฉันแทบไม่ได้คุยกับคุณตาคุณยาย จนตอนนี้พวกท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว”
หมัดแรก
โสวันนารี มีจิตวิญญาณนักกีฬาตั้งแต่เด็ก และชอบออกไปเล่นนอกบ้านอยู่เสมอ เธอเริ่มสนใจกีฬาการต่อสู้จากการเล่นวิดีโอเกมและดูภาพยนตร์ แต่ก็ทำได้เพียงแค่นั้น เพราะด้วยฐานะทางการเงินของครอบครัวไม่พร้อมที่จะส่งเธอไปเรียนหรือฝึกกีฬาอะไรได้
“ฉันแทบไม่เคยคิดถึงเรื่องการไปเข้าคลาสเรียนหรือฝึกซ้อมอะไรทั้งนั้น ฉันไม่มีโอกาสเลย”
แต่ทุกสิ่งเปลี่ยนไปเมื่อเธออายุได้ 20 ปี เธอเริ่มฝึกชกมวยเพื่อรักษารูปร่างและเพิ่มความฟิต ซึ่งในตอนแรก เธอไม่มีความคิดที่จะพัฒนาให้เป็นอาชีพ แต่หลังจากเธอได้เหวี่ยงหมัดแรกออกไป เธอก็ตกหลุมรักในกีฬาชนิดนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น
“เพื่อนชายของฉัน ซึ่งปัจจุบันเป็นแฟนกันแล้ว พาฉันเข้ายิมฝึกมวยสากลในลองบีช เท่าที่จำได้ เขารู้จักกับคนในยิม ตอนนั้นฉันยังไม่มีเงินพอจะจ่ายค่าสมาชิกด้วยซ้ำ แต่ก็อยากลอง ซึ่งโค้ชของฉันใจดีมาก เขาให้ฉันซ้อมฟรีๆ เลย”
“ตอนนั้นฉันเซอร์ไพรส์นะ เพราะตอนที่ฉันเล่นเกมสตรีตไฟต์เตอร์ หรือดูภาพยนตร์กังฟู ฉันไม่ได้ชื่นชอบอะไรในการชกมวย ฉันคิดว่า ก็แค่ต่อยกัน น่าเบื่อชะมัด แต่ไปๆ มาๆ ฉันก็หลงรักกีฬามวย และมันยังเป็นรักแรกของฉันถึงทุกวันนี้”
ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้
แม้จะหลงรักในมวยสากล แต่ โสวันนารี ก็มีความคิดที่จะเรียนรู้ศาสตร์แห่งศิลปะการต่อสู้ให้รอบด้าน และนั่นทำให้เธอตัดสินใจฝึกบราซิลเลียน ยิวยิตสู และมวยปล้ำ
แม้จะมีแรงบันดาลใจจาก “รอนดา รอเซย์” แต่การก้าวข้ามจากกีฬามวยสากลสู่ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนที่คิดไว้แต่แรก
“ด้วยความที่ฉันเป็นนักมวยสากลแต่ดั้งเดิม ทำให้ต้องใช้เวลาเรียนรู้พอสมควรเลย”
“คนที่พอจะมีพื้นฐานมวยปล้ำหรือจับล็อกมาบ้าง เวลาเจอฉัน ก็จะมุดหลบหมัดได้ แล้วจับฉันเทคดาวน์อยู่เสมอ และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า”
“มันทำให้ฉันหงุดหงิดนะ เพราะตอนแรกฉันคิดว่าด้วยพื้นฐานมวยสากลที่มี น่าจะทำให้ฉันไปต่อได้สบาย แต่ความจริงมันไม่ใช่”
แม้เรื่องดังกล่าวจะทำให้ โสวันนารี เสียกำลังใจไปบ้าง แต่เธอก็ยังคงฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาทักษะการจับล็อกอย่างต่อเนื่อง และมันก็เริ่มเห็นผล
“แทบจะพูดได้ว่า มันต้องใช้เวลาชาตินี้เลยมั้ง (หัวเราะ) ฉันรู้ตัวดีว่าต้องเพิ่มทักษะมวยปล้ำ จากที่เคยซ้อมไปเกลียดไป แต่ที่สุดแล้วก็หาจุดที่ทำให้สบายใจได้ และมันก็ค่อยๆ ผสานกับการสู้ของฉันได้ลงตัว”
ความฝันที่มุ่งหมาย
การเข้ามาอยู่ในสังกัด วัน แชมเปียนชิพ ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นแล้ว แต่ฉากต่อมาของ โสวันนารี เจ้าของฉายา “The Sweet Savage” นั้นยิ่งตื่นตาตื่นใจกว่า เมื่อเธอคว้าชัยไฟต์แรกเหนือ “อิรินา ไคเซโลวา” ด้วยเวลาเพียง 81 วินาทีเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา
แม้นักสู้ชาวกัมพูชา-อเมริกัน อาจผ่านสังเวียนการต่อสู้แบบผสมผสานระดับอาชีพมาเพียง 3 ไฟต์ แต่เธอก็เริ่มฝันไกลถึงอนาคตแล้ว
“ฉันอยากจะไปให้ไกลที่สุด ไฟต์นี้จะเป็นไฟต์ที่สองของฉันใน ONE หลังจากนั้นฉันอยากสู้อีกสัก 2-3 ไฟต์ และหวังจะได้โอกาสขึ้นชิงแชมป์โลกเสียที และบางทีฉันอาจลงไปสู้ในรุ่นสตรอว์เวตก็เป็นได้นะ”
“ตอนนี้มันยังเป็นเพียงแค่ไอเดีย เพราะฉันเองก็ยังโฟกัสที่รุ่นฟลายเวตก่อน แต่ก็หวังว่าจะได้รับโอกาสชิงแชมป์โลกในอนาคต”
อีกหนึ่งเป้าหมายของเธอ คือการได้โชว์ฝีมือในบ้านเกิดที่ประเทศกัมพูชา เพราะที่ผ่านมาเธอยังไม่เคยขึ้นสังเวียนที่นั่นมาก่อน และจะเป็นครั้งแรกที่เธอได้กลับไปเหยียบแผ่นดินของบรรพบุรุษ
“กีฬาต่อสู้นั้นถือเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมกัมพูชา ซึ่งฉันไม่เคยตระหนักมาก่อนกระทั่งไม่นานมานี้”
“หากฉันได้มีโอกาสไปขึ้นสังเวียนที่นั่น ในฐานะตัวแทนของประเทศในเวทีระดับโลก พร้อมกับได้เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีของกัมพูชามากขึ้น ก็น่าจะเป็นอะไรที่วิเศษมากๆ ค่ะ”
อ่านเพิ่มเติม: “เดนิส แซมโบอันกา” นักสู้หญิงน้องใหม่ ค่ายแฟร์เท็กซ์ส่งตามรอย “แสตมป์”
ONE: MARK OF GREATNESS | กัวลาลัมเปอร์ | 6 ธันวาคม 2562 | 17.00 น. ตามเวลาไทย | ONE Super App ถ่ายทอดสดตั้งแต่คู่แรก | ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ออกอากาศเวลา 22.30 น.