เปิดปูมชีวิต: “เพชรบุญชู เอฟ.เอ.กรุ๊ป” ราชาเข็มขัด 14 เส้นมากที่สุดในประเทศไทย

“ขุนเข่าริมโขง” เพชรบุญชู เอฟ.เอ.กรุ๊ป ใครได้ยินชื่อนี้เป็นต้องนึกถึงมวยเข่าระดับตำนาน ยิ่งคนในวงการต้องรู้จักเขาเป็นอย่างดี ในฐานะเจ้าของเข็มขัดแชมป์ 14 เส้น ซึ่งถือเป็นนักมวยไทยเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ครอบครองเข็มขัดแชมป์เวทีมาตรฐานมากที่สุด
ด้วยความสำเร็จมากมายที่นักมวยหลายคนอยากจะเดินรอยตาม แต่เหตุใด เพชรบุญชู จึงตัดสินใจที่จะแขวนนวมตั้งแต่ตอนที่เขามีอายุเพียง 25 ปี ด้วยอายุเท่านี้สำหรับนักมวยบางคนถือว่าอยู่ในช่วงที่กำลังไปได้สวย แต่ตัวเขาเองกลับตัดสินใจวางมือจากสังเวียนนักสู้ และไปเอาดีในงานอื่นซึ่งก็หนีไม่พ้นวงการมวยที่เขารัก
เรื่องราวของเจ้าตำนานเข็มขัดแชมป์มวยไทย 14 เส้น มีจุดเริ่มต้นและดำเนินมาถึงปัจจุบันอย่างไร ติดตามอ่านได้ที่นี่ค่ะ
หลานนักมวย
ชีวิตของ เพชรบุญชู ในวัยเด็กมีเรื่องราวที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากนักมวยไทยบ้านเราเล็กน้อย ตรงที่เขาไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจนถึงขนาดอดมื้อกินมื้อ เรียกว่าอยู่ในฐานะปานกลางน่าจะใช้คำนี้ได้
ครอบครัวของเขาประกอบอาชีพทำไร่ทำนา ลุงเป็นเถ้าแก่ไร่อ้อย พ่อกับแม่ทำงานกับลุง เสมือนเป็นธุรกิจในครอบครัว จัดสรรปันส่วนรายได้กัน พอมีพอใช้ พอเลี้ยงปากท้อง 4 คนพ่อแม่ลูก โดย เพชรบุญชู เป็นลูกคนโต มีน้องสาวหนึ่งคนอายุห่างกัน 5 ปี อาศัยอยู่ในบ้านเกิดที่ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี
เด็กชายจากถิ่นอีสานชื่นชอบมวยมาตั้งแต่เด็ก ลุงแท้ๆ ของเขาซึ่งเป็นเถ้าแก่ไร่อ้อยมีใจรักชอบมวยเป็นชีวิตจิตใจ ถึงขั้นเคยขึ้นชกมวยบนเวทีมาแล้ว แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็อยากเห็นลูกหลานมาเอาดีทางนี้ ในฐานะที่เป็นหลานชายคนเดียวในตอนนั้น เพชรบุญชู จึงได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่
“ลุงของผมชื่อ พนมไพร แกเป็นพี่ชายของแม่ เป็นคนที่ตั้งค่ายมวย ต.ชัยดี ซึ่งเป็นค่ายมวยแห่งแรกของผม สมัยเด็กๆ ผมใช้ชื่อนักมวยว่า ‘ยุทธพงษ์ ต.ชัยดี’ ซึ่ง ยุทธพงษ์ นั้นเป็นชื่อจริงของผมเอง”
ด.ช.ยุทธพงษ์ หรือที่คนในบ้านเรียกชื่อเล่นว่า “เบนซ์” ตามยี่ห้อรถยนต์ยุโรปแบรนด์ดัง เริ่มหัดสวมนวมครั้งแรกเมื่อวัย 6 ขวบ และสองปีหลังจากนั้นเขาก็ก้าวขึ้นเวทีมวยครั้งแรกโดยมีลุงของตัวเองเป็นโปรโมเตอร์ ซึ่งครั้งนั้นจัดแข่งขันในหมู่บ้าน เป็นงานหาเงินทำบุญให้วัดป่ามัชฌิมวงษ์รัตนาราม ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอที่เขาเกิด
“ช่วงนั้นผมสนุกกับการต่อยมวยมาก เรียนหนังสือไปด้วย ต่อยมวยไปด้วย และมีรายได้ช่วยเหลือครอบครัว โดยลุงเป็นคนพาเดินสายชกมวยในละแวกใกล้เคียง”
ได้ชื่อ “เพชรบุญชู”
ชีวิตของ เพชรบุญชู ต้องผกผันเมื่ออายุย่างเข้า 14 ปี ลุงของเขาตัดสินใจปิดค่ายมวย เนื่องจากแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว
“ลุงของผมไม่ได้ยากจนอะไร แกทำค่ายมวยจริงจังเพราะใจรักและอยากให้ผมมีเพื่อน มีเด็กๆ ในหมู่บ้านมาอยู่ที่ค่ายเป็นสิบยี่สิบคน ต้องทำกับข้าวเลี้ยง พูดง่ายๆ เหมือนบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้า”
“ความรู้เรื่องมวยแกก็ไม่มี อาศัยเปิดตำราสอน ส่วนครูมวยที่ค่ายก็เป็นนักมวยเก่าแถวบ้านที่มาสอนหาค่าเหล้าไปวันๆ เด็กนักมวยไปชกตามงานวัด ลุงต้องจ่ายทั้งค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ค่ากิน แต่เงินค่าตัวนักมวยแค่หลักร้อย เงินมันน้อย ลุงก็ไม่ได้หักอะไร เลี้ยงดูกันมา 4-5 ปีจากคนฐานะปานกลาง เริ่มเอารถไปขาย สุดท้ายก็ต้องตัดสินใจเลิก”
หลังจากที่นักมวยทยอยเลิกกันไป เหลืออยู่ในค่ายไม่กี่คน ประจวบกับที่ “เสี่ยเรียม” บุญธรรม เรืองยะวี เจ้าของค่ายมวย “บ่อปลาบุญชู” จากจังหวัดหนองคาย ติดต่อเอานักมวยจากค่ายของลุงไปอยู่ด้วยคนหนึ่งเพราะเห็นว่าแววดี เพชรบุญชู จึงติดสอยห้อยตามไปด้วยในฐานะมวยแถม
เมื่อมาอยู่ค่ายมวยแห่งใหม่ ยุทธพงษ์ ได้ชื่อใหม่ว่า “เพชรบุญชู” ซึ่งเป็นชื่อจริงของ ลุงบุญชู ที่เป็นพี่ชายของ เสี่ยเรียม ค่ายนี้ฝึกซ้อมอย่างหนักและจริงจัง ทำให้เขาทั้งเหนื่อยทั้งล้า บางครั้งต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ขาดเรียนเป็นสัปดาห์ กลับเข้าไปเรียนก็ต่อไม่ติด ตามเพื่อนไม่ทันจึงเกิดความรู้สึกอับอาย สุดท้ายก็พาลทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน
เรื่องการเรียน เพชรบุญชู จำต้องหยุดไว้ที่ไม่จบชั้นมัธยมต้น และกลับไปรื้อเอาวุฒิ ป.6 มาเรียนต่อ กศน. ซึ่งในที่สุดเขาก็ปลุกปล้ำเอาจนตัวเองสำเร็จปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสุโขทัย คณะวิทยาศาสตร์การกีฬาในปัจจุบัน
ราชาเข็มขัด 14 เส้น
กลับมาที่ชีวิตในค่ายมวยบ่อปลาบุญชู แม้จะอยู่ไม่ไกลจากบ้านเกิดของ เพชรบุญชู มากนัก แต่สำหรับเด็กหนุ่มจากอุดรธานีที่ไม่เคยห่างไกลครอบครัว เขารู้สึกโดดเดี่ยว แถมยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อด้วย นี่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เขาขาดสมาธิและไม่สนใจการเรียนในช่วงนั้น
แต่ในทางตรงกันข้าม ความสำเร็จบนสังเวียนก็เริ่มต้นขึ้นเมื่ออายุ 15 ปี ด้วยการคว้าเข็มขัดแชมป์เส้นแรกและต่อเนื่องมาตลอด 8 ปี รวมเข็มขัดแชมป์ทั้งหมด 14 เส้น ซึ่งไล่เลียงแต่ละเส้นได้ดังนี้ :-
- แชมป์ประเทศไทย รุ่นมินิฟลายเวต 105 ป. ชนะคะแนน เหล็กกล้า ธนสุรนคร 25 เม.ย.49
- แชมป์ประเทศไทย รุ่นไลต์ฟลายเวต 108 ป. ชนะคะแนน ยอดราชันย์ อ.เกียรติบรรพล 24 พ.ย.49
- แชมป์ประเทศไทย รุ่นฟลายเวต 112 ป. ชนะคะแนน คมพิชิต ริฟลอเนียร์ซาวว์น่า 5 มิ.ย.50
- แชมป์ลุมพินี รุ่นแบนตัมเวต 118 ป. ชนะคะแนน รักเกียรติ เกียรติประภัสร์ 7 ธ.ค.50
- แชมป์ประเทศไทย รุ่นซูเปอร์แบนตัมเวต 122 ป. ชนะคะแนน กัปตันเคน นฤภัย 2 พ.ค.51
- แชมป์ประเทศไทย รุ่นเฟเธอร์เวต 126 ป. ชนะคะแนน พันศักดิ์ ลูกบ.ก. 31 ต.ค.51
- แชมป์ลุมพินี รุ่นซูเปอร์เฟเธอร์เวต 130 ป. ชนะคะแนน แสนชัย ส.คิงส์สตาร์ 7 ส.ค.52
- แชมป์ลุมพินี รุ่นไลต์เวต 135 ป. ชนะคะแนน สะเก็ดดาว เพชรพญาไท 4 มิ.ย.53
- แชมป์สภามวยไทยโลก รุ่นไลต์เวต 135 ป. ชนะคะแนน สิงห์ดำ เกียรติหมู่ 9 / 10 มิ.ย.54
- แชมป์ประเทศไทย รุ่นไลต์เวต 135 ป. ชนะคะแนน สะเก็ดดาว เพชรพญาไท 7 ก.ย.55
- แชมป์ลุมพินี รุ่นไลต์เวต รุ่น 135 ป. ชนะคะแนน ปกรณ์ พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม 7 ม.ค.57
- แชมป์ประเทศไทย รุ่นซูเปอร์ไลต์เวต 140 ป. ชนะคะแนน ยอดวิชา ภ.บุญสิทธิ์ 28 ก.พ.57
- แชมป์ราชดำเนิน รุ่นซูเปอร์ไลต์เวต 140 ป. ชนะคะแนน ยอดวิชา ภ.บุญสิทธิ์ 11 มิ.ย.57
- แชมป์มวยไทยมาราธอนวีโก้ ปี 2557 (สนามที่ 3) ชนะคะแนน ฉมวกทอง ไฟต์เตอร์มวยไทย 25 ก.ค.57
จากความสำเร็จที่ผ่านมาจะเห็นว่านับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2557 เพชรบุญชู ล่าเข็มขัดแชมป์มาครองได้ทุกปี ไม่เว้นแม้แต่ปีเดียว โดยเฉพาะในปี 2557 เขากวาดเข็มขัดมาได้ถึง 4 เส้น อีกทั้งยังได้รับรางวัล สยามกีฬา อวอร์ดส์ ครั้งที่ 8 ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุ 24 ปี
อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงกลางระหว่างการเดินทางล่าเข็มขัดแชมป์ ก็มีอันต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
เมื่อ ค่ายมวยบ่อปลาบุญชู โยกย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ภายใต้สังกัด “เอฟ.เอ.กรุ๊ป” โดยการสนับสนุนจาก “เสี่ยต๋อง” สุรพล ประสิทธิพันธ์ เนื่องจากนักมวยค่ายนี้มีชื่อเสียงโด่งดังกันหลายคน จึงต้องเดินทางเข้ามาชกในเวทีมาตรฐานเมืองกรุงบ่อยครั้ง การย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
เพชรบุญชู ได้รับฉายาว่า “ขุนเข่าริมโขง” ผ่านสังเวียนผ้าใบมาทั้งชีวิตกว่า 200 ครั้ง เขายอมรับว่าครั้งหนึ่งที่เขาประทับใจและภาคภูมิใจมากที่สุด คือ ไฟต์ที่ชกกับไอดอลขวัญใจของตัวเองอย่าง “แสนชัย ส.คิงสตาร์ (พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม)” หนึ่งในนักชกดาวค้างฟ้าของประเทศไทยที่เป็นไอดอลของนักมวยหลายต่อหลายคน
ครั้งนั้นเขาสามารถเอาชนะคะแนน แสนชัย พร้อมได้ครองแชมป์สนามมวยเวทีลุมพินี รุ่นซูเปอร์เฟเธอร์เวต เมื่อ 7 สิงหาคม 2552 ซึ่งเป็นเข็มขัดเส้นที่ 7 ในชีวิต
ชีวิตทหาร
ช่วงอายุ 21 ปีชายไทยต้องไปเกณฑ์ทหาร แม้ เพชรบุญชู ในเวลานั้นจะเป็นแชมป์มวยไทยผู้ครองเข็มขัด 9 เส้นก็ไม่มีข้อยกเว้น
เพชรบุญชู จับได้ใบแดง และต้องไปฝึกที่ กองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 23 ที่จังหวัดอุดรธานี นาน 3 เดือน หลังจากจบมาก็ถูกดึงตัวให้ไปต่อยมวยสากลสมัครเล่นของกองทัพอากาศ สลับกับต่อยมวยไทยในนามค่ายมวย เอฟ.เอ.กรุ๊ป ไปด้วย
ความสามารถระดับ เพชรบุญชู ทำให้เขาติดทีมชาติ ชุดบี คิงส์คัพ ได้มีโอกาสเดินทางไปแข่งขันมวยทหารโลกที่เกาหลี ไต้หวัน ฯลฯ แต่ด้วยความที่เขาเป็นมวยเข่า ทำให้เขารู้สึกขัดแข้งขัดขาตัวเอง เมื่อต้องสวมนวมชกมวยสากลที่เน้นการใช้หมัดเพียงอย่างเดียว หลังปลดประจำการสองปี เขาจึงกลับมาเดินทางสายเก่าตามที่เขาถนัด
หลังจากคว้าเข็มขัดแชมป์ได้ทั้งหมด 14 เส้น เพชรบุญชู ได้รับค่าตัวสูงสุดถึง 120,000 บาทต่อไฟต์ ซึ่งสมัยนั้นหากเทียบกับปัจจุบันก็ระดับเดียวกับ รถถัง จิตรเมืองนนท์, แสงมณี เสถียรมวยไทย ซึ่งนับว่าค่าตัวสูงมาก
นักมวยตัวท็อปรุ่นเดียวกันช่วงนั้นก็มี สามเอ ไก่ย่างห้าดาว, น้องโอ๋ ไก่ย่างห้าดาว, สะเก็ดดาว เพชรพญาไท, สิงห์ดำ เกียรติหมู่ 9 ฯลฯ ซึ่งหลายคนที่อายุมากกว่าก็ทยอยเลิกมวยกันไปหมด จนทำให้เขาเริ่มหาคู่ชกยากขึ้น กว่าจะได้ขึ้นชกแต่ละครั้งก็ต้องรอ 2-3 เดือน
ประกอบกับช่วงนั้นเขามีปัญหาตาปลาที่เท้า ซ้อมได้ไม่เต็มที่ ปวดจนต้องให้หมอฉีดยา กว่าจะรักษาหายก็ต้องใช้เวลานาน รายได้ไม่เข้า แต่รายจ่ายเท่าเดิม เขาจึงคิดว่าควรหาอย่างอื่นทำดีกว่า
ผันเป็นครูมวย
ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน เพชรบุญชู ได้รับการชักชวนจากครูมวยรุ่นพี่ “ครูเป็ด” ยอดณรงค์ ศิษย์ยอดธง ที่ทำงานอยู่ยิมใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์อย่าง “อีโวลฟ์” ให้ลองไปสอนมวยที่นั่น
ทีแรกเขายอมรับว่าไม่กล้า เพราะไม่เคยสอนมวยมาก่อน แถมมี “อีโก้” ว่าเป็นระดับแชมป์ ไม่เคยต้องถือเป้าให้ใคร จึงตัดสินใจแค่ไปลอง หากไม่เวิร์กก็จะกลับมาชกมวยที่เมืองไทยเหมือนเดิม แต่ไปๆ มาๆ เขาอยู่ที่นั่นยาวถึง 3 ปี
“ตอนนั้นผมคิดว่า เราเป็นมวยเงินแสน เราไม่ถือเป้าให้ใครง่ายๆ แต่พอเป็นไปเทรนเนอร์ความคิดเราเปลี่ยนไป เราต้องไปเรียนรู้ใหม่ ฝึกอยู่สองสามเดือน และนำความรู้มาต่อยอด พอเราได้สอนจริงๆ เรามีลูกศิษย์เป็นของตัวเอง เรารู้สึกตื่นเต้นที่สอนคนจากที่ยืนไม่เป็น จนเขาเตะต่อยเป็น มันก็ทำให้เรารู้สึกดี”
“หลังจากผ่านเดือนแรก เดือนที่สอง ผมมานั่งคิด ถ้าต่อยมวยอีก 5 ปีจนผมอายุ 30 กับอยู่ที่นี่ทำงาน 5 ปี การต่อยมวยมันเหมือนวิ่งอยู่กับที่ สองสามเดือนถึงจะได้ชกที ค่าตัวแบ่งครึ่งกับค่าย กว่าจะได้ชก เงินเก่าก็ใช้หมดพอดี แต่อยู่ที่ อีโวลฟ์ ผมได้รับเต็ม ใช้แบบฟุ่มเฟือยสุดๆ แล้วผมยังมีเงินเก็บกลับส่งบ้านเดือนละแสน ผมจึงตัดสินใจเลิกยาวเลยครับ”
ร่วมงานกับ วัน แชมเปียนชิพ
นอกจากรายได้ที่ทำให้นักมวยอีสานอย่างเขาลืมตาอ้าปากได้แล้ว ประสบการณ์ทำงานในองค์กรที่มีระบบระเบียบเป็นมาตรฐาน ทำให้เขาพัฒนาตัวเองขึ้นหลายด้าน ทั้งเรื่องการตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบ การติดต่อสื่อสารกับผู้คน การปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ฯลฯ รวมถึงด้านภาษาที่เขาได้ติดตัวมาอีกเล็กน้อยในระหว่างที่เป็นครูมวย
หลังจากผ่านงานที่ อีโวลฟ์ ราว 3 ปี ก็พอดีกับที่ วัน แชมเปียนชิพ เข้ามาบุกตลาดในประเทศไทย เพชรบุญชู จึงได้รับโอกาสให้เข้ามาร่วมทำงานในองค์กรศิลปะการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลนักกีฬา ซึ่งหน้าที่นี้เหมาะสมกับเขาเป็นที่สุด เพราะเขารู้จักชีวิตนักกีฬาไทยในทุกแง่มุม
การทำงานในตำแหน่งนี้ทำให้เขาได้มีโอกาสพบปะกับเพื่อนเก่าๆ บนสังเวียนมากหน้าหลายตา และได้ใช้มิตรภาพที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์ในอาชีพ รวมถึงได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากนักกีฬาด้วยกัน เพราะใครเล่าจะรู้ใจนักกีฬาได้เหมือนกับนักกีฬาด้วยกันเอง
แฟนๆ จะได้เห็น “เพชรบุญชู เอฟ.เอ.กรุ๊ป” ในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดูแลนักกีฬา และผู้ที่มีส่วนช่วยพัฒนาให้ “มวยไทย” อันเป็นศิลปะประจำชาติไทยก้าวหน้าต่อไปในทิศทางที่ดีขึ้น ด้วยการร่วมมือกับองค์กรศิลปะการต่อสู้ระดับโลกอย่าง วัน แชมเปียนชิพ
อ่านเพิ่มเติม:
- เหล่านักมวยดังเปิดประมูลช่วยน้ำท่วมอุบลฯ
- 10 ศิลปะการต่อสู้ที่นักกีฬานำเทคนิคมาใช้บนสังเวียน วัน แชมเปียนชิพ
- 10 เทคนิคเรียนมวยไทยให้บรรลุจากแชมป์เข็มขัด 14 เส้น “เพชรบุญชู เอฟ.เอ.กรุ๊ป”
- เปิดปูมชีวิต “ซ้ายอุกกาบาต” กุหลาบดำ สจ.เปี๊ยกอุทัย ยอดมวยซ้ายเจ้าของหมัดทรงพลัง
- เปิดปูมชีวิต “แสงมณี” ก่อนเป็น “ทารกเงินล้าน” อย่างทุกวันนี้