เรื่องเล่าจาก “แฟร์เท็กซ์” จากโรงงานสิ่งทอ สู่สถานที่ปลุกปั้นนักกีฬาระดับโลก

an inside look at stamp fairtexs training

ค่ายแฟร์เท็กซ์ ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกในฐานะค่ายมวยทันสมัยซึ่งตั้งอยู่ในเมืองพัทยา แต่ก่อนหน้าที่ค่ายมวยแห่งนี้จะย้ายมาเปิดอย่างใหญ่โตในปัจจุบัน มันเคยเป็นเพียงค่ายมวยเล็กๆ ที่เปิดอยู่กลางกรุง ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ประวัติศาสตร์เบื้องหลังอันยาวนานกว่าจะมาเป็นค่ายแฟร์เท็กซ์ในวันนี้ซึ่งกินเวลาถึง 50 ปี

 

จุดเริ่มต้นของแฟร์เท็กซ์

นายบรรจง และ นายเปรม บุษราบวรวงษ์

 

ในปี 2501 ชื่อ “แฟร์เท็กซ์” ถูกจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย แต่กว่าที่ “นายบรรจง บุษราบวรวงษ์” จะได้ก่อตั้ง บริษัท แฟร์เท็กซ์ การ์เมนต์ส แฟกตอรี เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตสิ่งทอคุณภาพสำหรับตลาดไทยและต่างประเทศ ก็ผ่านไปถึง 13 ปีหลังจากนั้น

นายบรรจง มีใจรักมวยไทยมานานแล้ว สมัยที่เขาเป็นเด็ก เขาเคยถูกรังแก แต่เขาสามารถใช้ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวเองได้ และเพราะด้วยมวยไทยให้อะไรกับเขามากมาย เขาจึงให้คำมั่นกับตัวเองว่าจะตอบแทนมวยไทย และเขาก็สามารถทำได้สำเร็จในปี 2518 เมื่อเขาเปิดค่ายมวยแห่งแรกของตัวเองในย่านสวนพลู กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ใกล้กับสนามมวยลุมพินีเก่า อันสะดวกในการเดินทางไปดูมวยได้บ่อยครั้ง

 

 

สำหรับ นายบรรจง ค่ายมวยเป็นเพียงหนทางหนึ่งที่จะตอบแทนกีฬามวยไทย และสร้างโอกาสให้กับคนระดับรากหญ้า โดยเขาใช้เงินทุนก่อตั้งค่ายนี้จากการขับเคลื่อนธุรกิจสิ่งทอซึ่งกำลังเฟื่องฟู

ไม่นาน ค่ายแฟร์เท็กซ์ ก็ขยับขยายเติบโตขึ้น เขาจึงตัดสินใจย้ายจากสวนพลูไปอยู่ที่บางพลี ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติเหมาะสำหรับการฝึกซ้อมของนักมวยในค่าย

หลังจากก่อตั้งค่ายมวย นายบรรจง ได้เข้าไปเป็นโปรโมเตอร์ที่สนามมวยเวทีลุมพินี และนำพาค่ายมวยเข้าสู่ยุคทองด้วยการสร้างแชมป์หลายต่อหลายคน ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็น บุญเกิด แฟร์เท็กซ์, หนึ่งสยาม แฟร์เท็กซ์ และ จงสนั่น แฟร์เท็กซ์

ต้องยอมรับว่า นายบรรจง เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เพราะหากมองย้อนกลับไปในปี 2523 ค่ายแฟร์เท็กซ์ ถือเป็นค่ายมวยแรกๆ ที่เปิดรับชาวต่างชาติมาเรียนมวยไทย และ นายบรรจง ยังนำนักมวยต่างชาติลงแข่งในสนามมวยเวทีลุมพินีอีกด้วย

 

เทรนเนอร์, แสตมป์, นายเปรม และโค้ชของค่าย

 

สำหรับ “นายเปรม บุษราบวรวงษ์” ผู้เป็นลูกชาย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บริหารค่ายแฟร์เท็กซ์ที่พัทยา แต่จุดเริ่มต้นจริงๆ ของเขาก็เกิดที่บางพลีเช่นกัน

“นับแต่ผมเติบโตขึ้นมา สิ่งเดียวที่ผมจำความได้คือเสียงซ้อมและเตะกระสอบทราย ผมไปดูนักมวยซ้อมกับพ่อที่ค่ายมวยทุกวัน ที่นั่นเป็นค่ายมวยแห่งแรกที่ผมจำได้ มันกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต และผมอยากสานต่อในสิ่งที่พ่อสร้างขึ้นมา”

“มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินทอง แต่เราทำด้วยใจ ตอนนี้ผมหลงรักมวยไทย และมันเป็นหน้าที่ๆ ผมจะต้องทำให้ค่ายมวยเติบโตขึ้น”

เมื่ออุตสาหกรรมเปลี่ยนไป แฟร์เท็กซ์ จึงหันมาโฟกัสไปที่ตลาดมวยไทย และชิมลางด้วยการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในกีฬามวยไทย ซึ่งในปี 2537 แฟร์เท็กซ์ ได้ผลิตนวมชกมวยคู่แรก ก่อนจะขยายแบรนด์ไปสู่อุปกรณ์มวยไทยอื่นๆ จนเต็มรูปแบบที่ผ่านการทดลองและทดสอบการใช้งานจากบรรดาแชมป์ในค่าย

 

แฟร์เท็กซ์สร้างชื่อในระดับโลก

Muay Thai legend Yodsanklai IWE Fairtex stands in the ring

ยอดแสนไกล

 

ใช้เวลาไม่นานสำหรับ แฟร์เท็กซ์ ที่จะสร้างตัวเองเป็นหนึ่งในแบรนด์อุปกรณ์มวยไทยชั้นนำของประเทศ ก่อนที่จะบุกไปสู่ตลาดต่างประเทศและมีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก

ไม่ใช่เพียงวิสัยทัศน์ในการบริหารธุรกิจ เรื่องของตัวนักมวย นายบรรจง ก็มองการณ์ไกล จึงได้เซ็นสัญญาดึงตัว “ยอดแสนไกล” มาใช้สีเสื้อของค่ายในปี 2548 แม้จะมีหลายคนสงสัยว่าเขาจะสามารถปั้น “ยอดมวยคอมพิวเตอร์” ไปสู่การเป็นซูเปอร์สตาร์ได้อย่างไร

ในปีเดียวกัน นายบรรจง ได้เปิดค่ายมวยและโรงแรมที่เมืองพัทยา และย้ายนักมวยในค่ายมาฝึกซ้อมที่นี่ เป็นที่รู้ดีว่าทุกความสำเร็จของนักมวยในค่าย มาจากความใส่ใจทุกรายละเอียดของ นายบรรจง 

 

Yodsanklai YK4_8517.jpg

 

สมัยที่ ยอดแสนไกล ลงแข่งในสนามมวยที่เมืองไทย เขาถือเป็นนักมวยที่ถนัดในเกมกอดปล้ำคนหนึ่ง แต่เมื่อต้องไปสู่ตลาดนานาชาติ นายบรรจง ก็จับ ยอดแสนไกล ปรับเปลี่ยนสไตล์ให้เข้ากับตลาด และเสริมอาวุธหมัดอันหนักหน่วง รวมถึงลูกเตะซ้ายทรงพลัง ซึ่งกลายเป็นอาวุธประจำตัวของ ยอดแสนไกล และทำให้เขาถล่มเจ้าตำนานชาวออสซีผู้เลื่องชื่ออย่าง “จอห์น เวย์น พาร์” ในรอบสุดท้ายของการแข่งขัน The Contender Asia ในปี 2551 และทำให้เขาแจ้งเกิดนับแต่นั้น

นายบรรจง ยังได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของกีฬาซึ่งถูกดูแคลน ยกระดับให้มีรูปแบบที่ทันสมัยและเหมาะสมที่จะใช้ในการออกกำลังกาย ซึ่งทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน

 

 

เมื่อ นายเปรม ต้องเข้ามารับมือจากผู้เป็นพ่อ เขาจึงได้สานต่อความสำเร็จนี้ และสร้างชื่อ แฟร์เท็กซ์ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

“เราทำด้วยใจรัก และพยายามทำอย่างมืออาชีพ เราเป็นหนึ่งในค่ายมวยแรกๆ ที่พยายามสร้างมาตรฐานระดับมืออาชีพ มีโรงยิมขนาดใหญ่ที่สะอาดและมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทุกชิ้นที่เราผลิต หรือแม้แต่ตัวนักกีฬา”

“เราพัฒนาโปรแกรมฝึกซ้อมสำหรับนักกีฬาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราประสบความสำเร็จในฐานะสถานที่ฝึกซ้อมศิลปะการต่อสู้ที่มีชื่อเสียงอย่างกว้างขวาง

 

อนาคตของแฟร์เท็กซ์

 

ค่ายแฟร์เท็กซ์ ไม่ใช่เพียงปลุกปั้นนักกีฬาชาย แต่ยังเป็นยิมศิลปะการต่อสู้แรกๆ ที่หันมาผลักดันนักกีฬาหญิงอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันมี “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” ซึ่งเป็นนักมวยหญิงไทยคนแรกที่เคยครองตำแหน่งแชมป์โลกสองประเภทกีฬา ทั้งมวยไทยและคิกบ็อกซิ่ง ของ วัน แชมเปียนชิพ อีกทั้งเธอยังมุ่งมั่นคว้าเข็มขัดเส้นที่สามในกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ในอนาคต

“ทีแรกคุณพ่อของผมลังเลอยู่เหมือนกันที่จะนำหลากหลายกีฬาเข้ามาในยิม แต่เมื่อตลาดมีการเปลี่ยนแปลง เราจึงเริ่มสร้างทีมนักกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน ซึ่งในส่วนของอุปกรณ์เราได้ขยายสายการผลิตไปสู่กีฬาประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นถุงมือ, ชุดกิ และอุปกรณ์ฝึกซ้อมต่างๆ นอกจากนี้เรายังอยากมีแชมป์ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานที่เราสร้างขึ้นมาเองด้วย”

 

Philippine mixed martial artist stands against the fence

เดนิส แซมโบอันกา

 

นอกจากนักกีฬาชาวไทยแล้ว ปัจจุบัน แฟร์เท็กซ์ ยังมีนักกีฬาต่างชาติในสังกัด อาทิ  มาร์ค แฟร์เท็กซ์ อาร์เบลาโด, เจนนี ฮวง และ เดนิส แซมโบอันกา ซึ่งเป็นนักกีฬาสาวจากฟิลิปปินส์ซึ่งเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมากิน อยู่ หลับนอน และฝึกซ้อมอย่างเต็มเวลาในค่ายแห่งนี้ และตอนนี้เธอเป็นเจ้าของสถิติไร้พ่าย 7-0 ในกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน และยังเป็นดาวรุ่งสาวไฟแรงที่กำลังจ่อคิวขึ้นชิงแชมป์โลกในเร็ววันนี้

“สาเหตุที่ฉันเลือก แฟร์เท็กซ์ เพราะฉันต้องการสถานที่ฝึกซ้อมในระดับเวิลด์คลาส ซึ่งหนึ่งในข้อได้เปรียบที่สุดสำหรับที่นี่คือฉันมีคู่ซ้อมเป็นแชมป์โลกอย่าง แสตมป์ ด้วยค่ะ” เดนิส กล่าว

 

 

เมื่อ แฟร์เท็กซ์ ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับองค์กรศิลปะการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง วัน แชมเปียนชิพ ซึ่งต่างก็มีจุดประสงค์เดียวกันในการส่งเสริมและผลักดันศักยภาพของนักกีฬา เราเชื่อว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี และจะเกิดประโยชน์ต่อวงการกีฬาบ้านเราอย่างมากที่สุด

 

อ่านเพิ่มเติม:

ดูเพิ่มเติมในหมวด บทความ

NL 1852
Jonathan Haggerty Superlek Kiatmoo9 ONE 168 65
Superlek Kiatmoo9 vs Takeru Segawa ONE 165 (17)
ONE167 Kade Ruotolo VS Blake Cooper (20)
Jonathan Haggerty Superlek Kiatmoo9 ONE 168 80
Anatoly Malykhin Oumar Kane ONE 169 78
1860141 (1)
Lumpinee Bonus 1920x1080px
Lumpinee Contract 1920x1080px
Kiamrian Abbasov Christian Lee ONE on Prime Video 4 1920X1280 34
1820285
11 Anatoly Malykhin VS Oumar Kane one 169 (33)