จากรากหญ้าสู่ผู้ท้าชิง “เรเน คาตาลัน” ต้นแบบของนักสู้ผู้มีความพยายามเป็นที่ตั้ง
“The Challenger” เรเน คาตาลัน เหมือนต้องเจอกับฝันร้ายหลังปราชัยใน 3 ไฟต์แรกเมื่อก้าวสู่สังเวียน วัน แชมเปียนชิพ แต่สุดท้ายนักสู้วัย 40 ปีก็พลิกวิกฤติด้วยการคว้าชัยชนะอย่างสวยหรูต่อเนื่อง 6 ไฟต์ติดต่อกัน จนได้ขยับเข้ามาถึงด่านสุดท้ายในฐานะผู้ท้าชิงบัลลังก์แชมป์โลก ONE รุ่นสตรอว์เวต กับนักสู้ร่วมชาติ “The Passion” โจชัว พาซิโอ ในศึก ONE: MASTERS OF FATE ณ สนาม มอลล์ ออฟ เอเชีย อารีนา กรุงมะนิลา อันเป็นประเทศบ้านเกิดของทั้งคู่
คาตาลัน เข้าสู่วงการศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานหลังประสบความสำเร็จมาแล้วในกีฬาวูซู ด้วยการครอบครองเข็มขัดแชมป์โลกวูซู, วูซูเวิลด์คัพส์, เหรียญทองเอเชียนเกมส์ และซีเกมส์ ทำให้เขากลายเป็นฮีโร่ของประเทศบ้านเกิด
ทว่า เขากลับมีปัญหาในการปรับตัวบนสังเวียนศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ในช่วงแรกๆ โดยในช่วงเดือนธันวาคม 2557 และต่อจากนั้นอีกราวปีครึ่งหลังเปิดตัวในไฟต์แรก คาตาลัน แพ้ 2 ไฟต์ (ไม่มีผลการตัดสิน 1 ไฟต์) และยังไม่เคยได้รับชัยชนะเลย
ในฐานะเจ้าของยิม คาตาลัน ไฟติ้ง ซิสเต็ม (CFS) วัย 34 ปี เขาถือเป็นนักสู้ที่มีอายุค่อนข้างมากสำหรับ “บ้านแห่งศิลปะการต่อสู้ วัน แชมเปียนชิพ” ซึ่งอันที่จริงเขาสามารถแขวนนวม และผันตัวไปเป็นโค้ชได้สบายๆ แต่นั่นไม่ใช่ทางเลือก เพราะเขายังมีไฟในการแข่งขันอยู่
- “เรเน คาตาลัน” เผยสาเหตุรับดวล “โจชัว พาซิโอ
- ย้อนชม 5 สุดยอดน็อกเอาต์ของนักสู้ในศึก ONE: MASTERS OF FATE
- “โจชัว พาซิโอ” เผยการป้องกันแชมป์โลกครั้งนี้เป็นความเหมือนที่แตกต่าง
“ผมบอกกับตัวเองว่าการพ่ายแพ้เป็นเรื่องปกติ เพราะผมยังใหม่กับกีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน”
“ผมต้องใช้ความผิดพลาดเหล่านั้นเป็นขั้นบันไดในการพัฒนาตัวเอง มองหาสิ่งที่ต้องแก้ไข และเพิ่มเติมสิ่งที่ขาดหายไป ซึ่งมันเป็นแรงกระตุ้นให้ผมต้องเดินหน้า”
“ผมไม่เคยมีข้อกังขาเรื่องอายุของตัวเอง ใช่อยู่ว่ามันได้เปรียบกว่าหากเริ่มตั้งแต่อายุน้อยๆ แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะมันต้องอาศัยความมีวินัย ความมุ่งมั่น ทุ่มเท และต้องมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะประสบความสำเร็จ”
“ผมบอกตัวเองว่า อาชีพนักศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานของผมเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น ผมต้องเรียนรู้จากความล้มเหลวและแก้ไขปรับปรุง หลังจากที่ผมแพ้ติดต่อกัน ผมตัดสินใจที่จะโฟกัสในการฝึกฝนกับทีม แทนที่จะไปซ้อมที่อื่น ผมจ้างโค้ชมาช่วยฝึกฝนเพื่อดึงศักยภาพของผมออกมาให้มากที่สุด”
การสูญเสียภรรยาเป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่เข้ามากระทบจิตใจของเขาอย่างหนักในช่วงนั้น นอกจากจะต้องบริหารงานและสร้างความมั่นคงให้กับค่าย เขายังต้องพยายามเข้มแข็งเพื่อลูกๆ และลูกศิษย์ในยิม
โชคดีที่ทุกคนในทีม CFS อยู่เคียงข้างเขามาตลอด จนผ่านพ้นช่วงเวลาที่เจ็บปวดไปได้ และด้วยความช่วยเหลือจากพวกเขา คาตาลัน ยกระดับทักษะของตัวเองและสามารถไล่ล่าความสำเร็จในอีกสองปีต่อมาได้อย่างสบาย
“เพื่อนร่วมทีม โค้ช และนักกีฬาในค่ายช่วยให้ผมผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านั้น พวกเขาพยายามผลักดันและตะโกนบอกผมให้ลุกขึ้นสู้ ในวันที่ผมรู้สึกไม่อยากไปต่อ และยังช่วยเรื่องอื่นๆ ในตอนที่ยิมของเรายังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก มันยากที่จะหาสปอนเซอร์มาสนับสนุน และเราก็ไม่มีคอนเนกชันกับบริษัทใหญ่ๆ ด้วย”
“นักกีฬาและลูกศิษย์ที่ค่ายช่วยให้ผมโฟกัสในการฝึกซ้อมแทนที่จะกังวลเรื่องอื่นๆ ซึ่งช่วยให้ผมเอาชนะความท้าทายเหล่านั้นมาได้”
“โค้ช BJJ ของผม มาร์คัส วอลเตอร์ บอกว่า บางทีผมต้องเห็นแก่ตัวบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเตรียมตัวแข่งขัน ผมต้องคิดถึงตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ใช่นักกีฬาของผม และต้องโฟกัสกับการซ้อมของตัวเอง ซึ่งตอนนั้นยิมของเราเริ่มที่จะมั่นคง ผมจึงไม่ต้องกังลเรื่องการเงินอีก”
การแข่งขันครั้งแรกในกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย คาตาลัน เป็นฝ่ายได้รับการชูมือหลังจบการต่อสู้ครบ 3 ยก แม้เขาจะปลาบปลื้มกับชัยชนะ แต่ก็ยังรู้สึกไม่พอใจ เพราะเขามีเป้าหมายที่ใหญ่กว่า
“ตอนผมเป็นคู่ก่อนรายการ ผมมีความหวังที่จะได้เป็นคู่เอกเสมอ ผมบอกตัวเองว่า สักวันผมต้องไปถึงจุดนั้น เพราะการที่เราแข่งขันเป็นคู่แรกๆ ในสนามแทบจะไม่มีคนดูด้วยซ้ำ ซึ่งมันเป็นแรงขับเคลื่อนให้ผมไต่สู่อันดับสูงๆ และเป็นคู่เอกให้ได้”
“ผมเข้าใจว่าทำไมผมถึงอยู่ในสถานะนั้น เพราะผมยังใหม่กับกีฬาประเภทนี้ แต่ผมรู้ดีว่าถ้าเราทุ่มเทอย่างหนัก ในที่สุดแล้ว ผมจะสามารถขึ้นมาเป็นคู่เอกของรายการได้”
“The Challenger” ยังคงขึ้นสู้ในฐานะคู่ก่อนรายการอยู่อีก 2 ไฟต์โดยคว้าชัยชนะจากการซับมิชชัน “Papua Badboy” อาเดรียน มาเทอิส และชนะคะแนน “บู โฮ ยู กา” ก่อนจะได้ขยับเข้ามาเป็นคู่ในรายการในช่วงต้นปี 2561 ด้วยการโชว์ผลงานชนะ เพง ซือ เวน แบบไม่ครบยก และชนะแต้มดาวดังชาวอินโดนีเซีย “The Lion” สเตเฟอร์ เรฮาร์เดียน ต่อหน้าแฟนๆ ในบ้านเกิดของเขาเอง ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเขาเป็นหนึ่งในนักสู้ตัวท็อปของรุ่นนี้
“ผมแค่บอกตัวเองว่าพยายามรักษาชัยชนะให้ได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าผมสมควรที่จะเป็นผู้ท้าชิงแชมป์โลก ผมไม่สนใจหรอกว่าสถิติผมเท่าไหร่ และเคยโค่นใครมาบ้าง สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องพยายามก้าวขึ้นสู่แถวหน้า และทำให้เขาเห็นว่าผมคู่ควรกับตำแหน่งนี้”
อีกหนึ่งอุปสรรคที่ยังขวางหน้า นั่นคือ “Nobita” โยชิตากะ ไนโตะ อดีตแชมป์โลก ONE รุ่นสตรอว์เวต ซึ่งทั้งคู่พบกันในศึก ONE: REACH OF VALOR เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ย่างกุ้ง ประเทศพม่า แม้ไฟต์นั้นจะเป็นบททดสอบยากที่สุดในอาชีพ แต่เขาก็ปิดจ็อบซูเปอร์สตาร์ชาวญี่ปุ่นได้ตั้งแต่ยกแรก
คาตาลัน ใช้เวลาถึงสามปีจากจุดเริ่มต้นมาถึงจุดที่เกือบสูงที่สุด โดยเขาเชื่อว่ากุญแจสำคัญของความสำเร็จคือ การไม่ละทิ้งเป้าหมาย มีความกระหาย ที่มาพร้อมกับความมุมานะพยายาม แม้จะพบกับความล้มเหลวมาแล้วกี่ครั้งก็ตาม
นอกจากนี้ เขายังเชื่อว่าความสำเร็จของเขาสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้นักสู้ปลายแถวคนอื่นๆ ไม่ว่าพวกเขาจะพบกับอุปสรรคและความยากลำบากเพียงใด จงมองนักสู้วัย 40 ปีรายนี้เป็นต้นแบบ เพราะมันไม่มีคำว่าสายเกินไป ตราบใดที่ยังมีความพยายาม
“ถึงนักกีฬาทุกคนที่กำลังต่อสู้เพื่ออาชีพ จงมุ่งมั่นฝึกซ้อมและกำหนดเป้าหมายให้ตัวเอง”
“ไม่มีนักกีฬาหรือบุคคลใดประสบความสำเร็จในชีวิตหากไร้ซึ่งวินัย มันเริ่มต้นด้วยสิ่งนี้ คุณต้องทุ่มเทและตั้งใจแน่วแน่ในการบรรลุเป้าหมาย ถ้ามันเป็นความปรารถนาของคุณ คุณจะมีแรงจูงใจที่จะผลักดันตัวเอง หากคุณรวมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน คุณจะเห็นว่าตัวเองบรรลุความสำเร็จในที่สุด”
อ่านเพิ่มเติม: “โรบิน คาตาลัน” พร้อมลุยยอดมวยปล้ำโอลิมปิก “กุสตาโว บาลาร์ต”
MASTERS OF FATE | กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ | 8 พฤศจิกายน 2562 | ONE Super App ยิงสด 17.30 น. | ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 เวลา 22.30 น. | บัตรเข้าชม: http://bit.ly/onefate19