เปิดปูมชีวิตหนุ่มลูกครึ่งไทย-ออสซี “มินิที” แดเนียล วิลเลียมส์ ผู้เปี่ยมด้วยเลือดนักสู้
ชื่อของ “มินิที” แดเนียล วิลเลียมส์ น่าจะคุ้นหูสำหรับแฟนกีฬาที่ติดตาม ONE ในฐานะนักสู้หัวใจแกร่งที่สามารถต่อกรกับแชมป์โลก ONE มวยไทยผู้ไร้เทียมทานอย่าง “รถถัง จิตรเมืองนนท์” ชนิดไม่เกรงบารมีแชมป์จนได้ใจแฟนมวยชาวไทยไปเต็ม ๆ
มินิที เป็นที่จดจำอีกครั้งเมื่อโชว์ฟอร์มสดบดเก๋าเจ้าตำนานอย่าง “เดชดำรงค์ ส.อำนวยศิริโชค” ด้วยการชนะน็อกไปได้ในยกสอง เมื่อเดือนกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในกติกาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) แถมเรียกคะแนนแฟนชาวไทยด้วยการไหว้แสดงความนอบน้อมถ่อมตนและพูดภาษาไทยซึ่งได้ใจทุกคนไปเต็ม ๆ
ด้วยฝีมือที่ไม่ธรรมดา นักชกลูกครึ่งไทย-ออสซี ได้โอกาสกลับมาสานต่อในกติกาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ที่ถนัด โดยจะพบกับคู่แข่งจากแดนซามูไร “นามิกิ กาวาฮารา” ในศึก ONE: รีเกียน vs อาเรียน ซึ่งจะถ่ายทอดสดในวันศุกร์ที่ 22 เมษายนนี้
ก่อนที่ มินิที จะได้โชว์ฝีมืออีกครั้ง เราจะพาไปย้อนดูชีวิตที่ผ่านมาของนักสู้หัวใจแกร่งผู้มีสายเลือดไทยอยู่ครึ่งหนึ่ง
#เกิดเมืองไทย
พี่ชาย และ แดเนียล
แดเนียล เกิดที่เมืองไทย แม่ของเขาอาศัยอยู่ที่ อ.พาน จ.เชียงราย พ่อของ แดเนียล ทำงานเหมืองแร่อยู่ที่ออสเตรเลีย จึงจำเป็นต้องเดินทางมา ๆ ไป ๆ ระหว่างสองประเทศ เขามีพี่ชาย 1 คนอายุห่างกัน 3 ปี แดเนียล ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ไม่นานแม่ก็พาย้ายไปอยู่ออสเตรเลียตอนอายุ 8 เดือน แน่นอนว่า แดเนียล ยังจำความอะไรไม่ได้
เมื่อโตขึ้นเขาไม่ได้สนใจที่จะเรียนภาษาไทยนัก จึงทำให้เขาใช้ภาษาพ่อเป็นหลัก และพูดภาษาแม่ได้เพียงเล็กน้อย ขณะที่พี่ชายพูดภาษาไทยได้มากกว่า
#มีลุงเป็นนักมวย
แดเนียล มีโอกาสกลับมาเยี่ยมครอบครัวที่เมืองไทยราว 2-3 ปีครั้ง ตอนอายุ 4-5 ขวบเขามาเมืองไทยหนึ่งเดือน แม้จะไม่นานแต่ก็พอทำให้ แดเนียล จำความสนุกสนานในงานวัดและการร้องรำทำเพลงแบบไทย ๆ ได้บ้าง อีกทั้งยังเอ่ยถึงลุง (พี่ชายของแม่) ที่เป็นอดีตนักมวยนามว่า “ฟ้าทมิฬ ศิษย์ลบลอย” ซึ่งเขาเรียก “ลุงพล…ลุงพล”
สมัยเด็ก ๆ เขายอมรับว่ากลัว ลุงพล คนนี้ขึ้นสมอง แต่ก็ได้ยินเรื่องราวความเก่งของลุงในการชกมวย ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็ก 4-5 ขวบลูกครึ่งไทย-ออสซี ได้รู้จักคำว่า มวยไทย ก่อนที่มันจะกลายมาเป็นชีวิตจิตใจของเขาทุกวันนี้
#มวยไทยในสายเลือด
สมัย 20 กว่าปีก่อน มวยไทยในออสเตรเลียยังถือเป็นเรื่องใหม่ การจะหาที่เรียนมวยไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แดเนียล ซึ่งชอบเล่นการต่อสู้ตามประสาเด็กผู้ชาย และมี “บรูซ ลี” เป็นขวัญใจ จึงเริ่มเรียนเทควันโดและคาราเต้ตอนอายุราว 6-7 ขวบ
เมื่อได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้งตอนอายุ 7 ขวบ แดเนียล จำได้แม่นยำว่าเขาได้มีสวมกางเกงมวยไปดูมวยที่งานวัดซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่ บรรยากาศเต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจ มีเสียงคนเชียร์ เฮ เฮ ดังกึกก้อง ระหว่างที่เล่าไปสายตาของ แดเนียล ก็เป็นประกาย เขาบอกว่ามันสนุกจนแทบจะละสายตาไม่ได้เลย
สามปีให้หลังโชคดีที่มีโค้ชชาวออสซีมาเปิดสอนมวยไทยในย่านที่เขาอาศัยในเมืองเพิร์ท แดเนียล กับ พี่ชาย จึงจูงมือกันไปเรียนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ๆ ละชั่วโมงครึ่ง และได้ลองขึ้นชกมวยไทยสมัครเล่นครั้งแรก (สวมเฮดการ์ด สนับแข้ง สนับศอก) ตอนอายุ 15 ปี แม้เขาจะชนะคะแนนในไฟต์นั้น แต่เจ้าตัวยอมรับว่าการฝึกซ้อมและเทคนิคยังไม่ค่อยดีนัก
การแข่งขันชกมวยไทยมีจัดไม่บ่อยในออสเตรเลีย ปีหนึ่ง แดเนียล ได้แข่งสักสองครั้งก็ถือว่าโชคดีมากแล้ว ดังนั้นการสั่งสมประสบการณ์บนสังเวียนจึงทำได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และความรักในมวยไทยก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ
#ฝึกมวยที่เมืองไทย
หลังเรียนจบมัธยมปลาย แดเนียล ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย พร้อม ๆ กับทำงานพาร์ตไทม์รับจ้างเป็นพนักงานเช็ดกระจกเพื่อเก็บเล็กผสมน้อยโดยมีเป้าหมายที่จะมาเรียนมวยที่ประเทศไทย
ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองและการสนับสนุนของพ่อแม่ แดเนียล บินลัดฟ้าจากเมืองเพิร์ท ออสเตรเลีย มายังค่ายมวย ว.สันใต้ จ.เชียงใหม่ รอบแรกเขามาฝึกมวยอยู่ได้เดือนเดียว และมีโอกาสขึ้นชกหนึ่งครั้ง ผลชนะน็อกยก 3 รับค่าตัวประมาณ 2,000-3,000 บาทแต่นั่นมันไม่สำคัญเท่ากับประสบการณ์มหาศาลที่เขาได้รับ
เมื่อกลับไปบ้าน แดเนียล เก็บเงินมาเมืองไทยอีกครั้ง คราวนี้อยู่นานถึง 6 เดือน ยังดีที่เขาสามารถพักการเรียนที่มหาวิทยาลัยได้ และสามารถกลับไปเรียนต่อจนสำเร็จ อย่างไรก็ตามในช่วง 6 เดือนที่เมืองไทย แดเนียล ได้ขึ้นชก 7 ไฟต์ (ชนะ 5 แพ้ 2)
#เก่งรอบด้าน
นอกจากมวยไทยแล้ว แดเนียล ยังมีวิชาเทควันโดและคาราเต้เป็นพื้นฐานตั้งแต่วัยเด็ก หลังจากที่เจ้าตัวคลุกลีอยู่ในวงการการต่อสู้ แดเนียล จึงผันตัวไปสนใจกีฬาอื่นอย่าง คิกบ็อกซิ่ง หรือแม้แต่การต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ซึ่งต้องใช้ทักษะความสามารถในด้านยืนสู้และนอนสู้ผนวกเข้าด้วยกัน เรียกว่า ต้องเก่งรอบด้าน
แดเนียล ประสบความสำเร็จสูงสุดในวงการมวยไทย เป็นถึงแชมป์ WMC มวยไทย และในช่วง 2-3 ปีหลังที่ผ่านมาเขาทุ่มเทฝึกฝนและลงแข่งขันเก็บประสบการณ์ในกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสานระดับอาชีพมาแล้ว 4 ไฟต์
ติดตามชม “แดเนียล vs นามิกิ” ONE: รีเกียน vs อาเรียน ถ่ายทอดสด ศุกร์ที่ 22 เม.ย.65 รับชมทาง
- ONE Super App เวลา 15.30 น.
- YouTube ONE Championship เวลา 15.30 น.
- AIS Play เวลา 15.30 น.
- ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 เวลา 22.40 น.
อ่านเพิ่มเติม: