อีกแค่เอื้อมมือ เหลียวหลังแลหน้าเส้นทางสู่บัลลังก์ MMA ของ “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์”

Stamp2

ย้อนรอยเส้นทางการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ของนักสู้หญิงแกร่งชาวไทย “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” สู่การชิงบัลลังก์ ONE MMA รุ่นอะตอมเวตหญิง เฉพาะกาลกับ “ฮาม ซอ ฮี”


“แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” สาวแกร่งขวัญใจชาวไทย พร้อมเปิดศึกชิงแชมป์โลก ONE MMA รุ่นอะตอมเวตหญิง เฉพาะกาล (105-115 ป.) กับนักสู้เจนเวทีจากเกาหลีใต้ “ฮาม ซอ ฮี” ในฐานะคู่เอกของรายการ ONE Fight Night 14: แสตมป์ vs ซอ ฮี ถ่ายทอดสดจากสิงคโปร์ อินดอร์ สเตเดียม ประเทศสิงคโปร์ ในช่วงเวลาไพรม์ไทม์อเมริกา ซึ่งตรงกับเวลา 07.00 น. ของวันเสาร์ที่ 30 กันยายน 2566


230929 OFN14 1800x1200px
แสตมป์ vs ซอ ฮี


นักสู้สาวชาวระยองวัย 25 ปี กำลังจะมีโอกาสก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ที่สุดในฐานะแชมป์โลกหญิงสามกติกาคนแรกในประวัติศาสตร์ ONE หลังจากประสบความสำเร็จ คว้าตำแหน่งแชมป์โลกคิกบ็อกซิ่งและมวยไทยมาแล้ว

ถึงตอนนี้บัลลังก์การต่อสู้แบบผสมผสานอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม แต่ก่อนที่ศึกสำคัญครั้งนี้จะเริ่มขึ้น เราจะพาย้อนกลับไปดูเส้นทางที่น่าจดจำและพัฒนาการแบบก้าวกระโดดของ “แสตมป์” ตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงปัจจุบันบนเส้นทางนักสู้ MMA ระดับอาชีพ


#เปิดตัวด้วยน็อกเอาต์

https://www.instagram.com/p/CvH85WqM6aL/


“แสตมป์” สร้างชื่อกับ ONE ครั้งแรกในการลงแข่งขัน MMA ในรายการ Rich Franklin’s ONE Warrior Series (OWS) ซึ่งเป็นเวทีแจ้งเกิดดาวรุ่งของ ONE ในเดือนกรกฎาคม 2561 โดยเปิดฉากมาเธอก็ใช้อาวุธมวยไทยที่ถนัด เตะล่างสลับบน แจกน็อก “ราชิ ชินเด” นักกีฬาดาวรุ่งชาวอินเดียด้วยเวลาเพียง 19 วินาที เป็นจุดเริ่มต้นให้เธอเข้ามาสู่ชายคา ONE อย่างเป็นทางการ


#ฟอร์มแรงต่อเนื่อง



แม้จะเกิดจากกติกา MMA ในเวทีค้นหาดาวรุ่ง แต่ด้วยความสามารถจากการเป็นนักมวย ในไฟต์แรกที่ “แสตมป์” เปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะนักกีฬา ONE เต็มตัว เธอจึงได้รับโอกาสขึ้นชิงแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นอะตอมเวต กับ “ไค่ ถิง ฉวง” แชมป์โลกในขณะนั้นทันที และสามารถคว้าเข็มขัดคิกบ็อกซิ่งมาครองเป็นเส้นแรก

ในไฟต์ต่อมา เธอก็สร้างประวัติศาสตร์การเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกที่คว้าเข็มขัดเส้นที่สองจากกติกามวยไทย ขึ้นแท่น “ดับเบิลแชมป์” และได้ชื่อว่าเป็นนักมวยหญิงที่เก่งที่สุดในโลก

ระหว่างการกอบโกยความสำเร็จ “แสตมป์” ก็หักร้างถางพงสู่ MMA อย่างจริงจัง เธอกลับมาลงแข่งอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งก็ทําให้แฟนทั่วโลกต่างตะลึงไปตาม ๆ กันเมื่อเธอเอาชนะซับมิชชัน “อาชา โรกา” พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเธอไม่ได้เก่งแต่ท่ายืน ก่อนจะคว้าชัยใน MMA ได้อีก 3 ไฟต์ติดต่อกัน ในขณะที่เธอยังครองบัลลังก์มวยไทยและคิกบ็อกซิ่งควบคู่กันไปด้วย


Stamp Fairtex Alyona Rassohyna UNBREAKABLE III 1920X1280 6
แสตมป์ vs อาลีโอนา (5 ก.พ. 64)


แต่ในขณะที่ “แสตมป์” กำลังดื่มด่ำกับชัยชนะบนเส้นทาง MMA เธอก็กลับมาเสียเข็มขัดคิกบ็อกซิ่งให้กับ “เจเน็ต ท็อดด์” และเข็มขัดมวยไทยให้กับ “อัลลิเซีย เฮลเลน รอดริเกส” ไปในเวลาไล่เลี่ยกันในปี 2563 ซ้ำยังมาเสียสถิติไร้พ่ายในสาย MMA จากการแพ้ “อาลีโอนา ราสโซฮินา“ นักสู้ชาวยูเครนในนาทีสุดท้ายก่อนครบยกไปอย่างน่าเสียดายในเวลาต่อมา ซึ่งถือเป็นช่วงมรสุมชีวิตที่ “แสตมป์” ต้องใช้เวลาเยียวยาใจอยู่พักหนึ่ง


#นักกีฬาหญิงไทยคนแรกที่ครองเข็มขัด MMA

Stamp Ritu Phogat WINTERWARRIORS 1920X1280 102


แม้เส้นทางของ “แสตมป์” จะมีสะดุดไปบ้าง แต่ในปี 2564 เธอได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 8 สาวแกร่งเข้าร่วมชิงชัยศึก ONE เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ รุ่นอะตอมเวต ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ONE โดยเธอสามารถล้างแค้น “อาลีโอนา” ด้วยคะแนนไม่เอกฉันท์ และเก็บชัยเหนือ “จูลี เมซาบาร์บา” ในรอบรองชนะเลิศ

ส่งให้ “แสตมป์” ทะลุเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศพบกับมวยปล้ำหญิงชื่อดังจากแดนภารตะ “ริตู โฟกาต” ก่อนจะเอาชนะด้วยการซับมิชชัน ทำให้เธอได้ครองเข็มขัดแชมป์เวิลด์ กรังด์ปรีซ์สีเงินอันทรงเกียรติ และสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาหญิงคนแรกที่ได้ครองเข็มขัดแชมป์ในกติกา MMA ของ ONE


#ท้าชิงแชมป์โลกครั้งแรก


ในฐานะแชมป์เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ “แสตมป์” จึงได้รับสิทธิ์ขึ้นท้าชิงบัลลังก์กับ “แองเจลา ลี” ราชินีของรุ่นอะตอมเวตที่ครองบัลลังก์มาอย่างยาวนาน เมื่อเดือนมีนาคม 2565 โดยคู่นี้ถูกมองว่าเป็นการสู้กันระหว่างตัวแม่สายมวยปล้ำและตัวแม่สายมวยยืน ซึ่งการแข่งขันดำเนินไปอย่างดุเดือด “แสตมป์” ออกหมัดหนักหน่วงทำเอาแชมป์ต้องถอยร่นไปตั้งหลัก

แต่เกมกลับพลิกในยกที่สอง เมื่อ “แองเจลา” สามารถโจมตีด้วยท่ารัดสามเหลี่ยม แม้ “แสตมป์” จะเอาตัวรอดออกมาได้ แต่ “แองเจลา” อ้อมไปล็อกคอจากด้านหลังและบังคับให้ “แสตมป์” ต้องแท็ปเอาต์ในนาทีที่ 4:50 ของยกสอง


Angela Lee Stamp Fairtex ONE X 1920X1280 78


นอกจากนี้การแข่งขันที่ดุเดือดในไฟต์ชิงแชมป์โลก ONE MMA รุ่นอะตอมเวตระหว่าง “แสตมป์” และ “แองเจลา” สร้างความประทับใจให้แฟน ๆ ไม่น้อย จนทาง ONE ยกให้เป็นไฟต์ยอดเยี่ยมแห่งปี (MMA) ประจำปี 2565 อีกด้วย


#สู้เพื่อกลับไปสู่จุดสูงสุด


แม้จะพลาดโอกาสขึ้นครองบัลลังก์ที่สามไปอย่างน่าเสียดาย แต่สำหรับ “แสตมป์” ไม่มีคำว่าท้อในพจนานุกรม เธอเปิดรับความท้าทายในทุกการแข่งขันและคืนฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยม

โดยในเดือน กันยายน 2565 เธอกลับมาโชว์สับศอก ชนะคะแนนเอกฉันท์คู่แข่งสาวชาวมาเลย์ “จีฮิน รัดซวน” เจ้าของตำแหน่งผู้ท้าชิงอันดับ 5 ของแรงกิง ONE MMA รุ่นอะตอมเวต และสามารถรักษาตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่งของแรงกิงรุ่นนี้ได้อย่างเหนียวแน่น

และไฟต์ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในการเปิดตัวบนแผ่นดินอเมริกาของ ONE “แสตมป์” ฝากผลงานเตะลำตัวชนะน็อกนักสู้ขวัญใจชาวอเมริกัน “อลิส แอนเดอร์สัน” ตอกย้ำฐานะอันดับหนึ่งของรุ่นอย่างไร้ข้อกังขา


OFN10   Stamp VS Alyse Anderson18
แสตมป์ vs อลิส (5 พ.ค.66)


นอกจากนั้น “แสตมป์” ยังได้สิทธิ์ชิงแชมป์โลก ONE MMA รุ่นอะตอมเวตหญิง เฉพาะกาล กับ “ซอ ฮี” ผู้รั้งอันดับสองของแรงกิงรุ่นนี้ในปัจจุบัน ในระหว่างที่แชมป์โลก ONE รุ่นอะตอมเวต “แองเจลา” จำเป็นต้องพักจากการแข่งขันชั่วระยะเวลาหนึ่ง โอกาสนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะส่งให้ “แสตมป์” ขึ้นเป็นราชินีของรุ่นอะตอมเวต และกลายเป็นแชมป์โลกสามกติกาตามที่เจ้าตัวต้องการอีกด้วย

ติดตามศึกชิงแชมป์โลก ONE MMA รุ่นอะตอมเวตหญิง เฉพาะกาล ระหว่าง “แสตมป์ vs ซอ ฮี” ได้ในศึก ONE Fight Night 14 วันเสาร์ที่ 30 กันยายน 2566 สามารถจองบัตรเข้าชมในสนามผ่านทาง  TICKETMASTER  และติดตามข่าวสารและความคืบหน้าของศึกนี้ได้ที่นี่ รวมทั้งโซเชียลของ ONE ทุกช่องทาง ได้แก่ เฟซบุ๊ก  ONE Championship Thailand  และอินสตาแกรม ONEChampTh

ดูเพิ่มเติมในหมวด บทความ

1820285
11 Anatoly Malykhin VS Oumar Kane one 169 (33)
06 Rungrawee vs George Jarvis OL85 (2)
06 Parham Gheirati vs George Mouzakitis (32) OL84
OFN13 Marcus Almeida VS Oumar Kane (1)
OL75_03 Shir Cohen VS Francisca Vera (25)
youssef assouik 16 9
Thai champs cover update
OL58 Seksan vs Yutaro Asahi (62)
Jonathan Haggerty vs Felipe Lobo OFN19 (52)
Shadow Mom
Suablack Tor Pran49 vs Craig Coakley OL46 (17)