วันสตรีสากล ยกเรื่องราวหญิงไทยสุดแกร่ง “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” เป็นแบบอย่างผู้หญิง พ.ศ.นี้
ย้อนเรื่องราวชีวิตและเส้นทางการฟันฝ่าอุปสรรคจากนักมวยรากหญ้าสู่นักสู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ของซูเปอร์สตาร์หญิงแกร่ง “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์”
วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น “วันสตรีสากล” เป็นอีกวันที่ทำให้ผู้คนทั่วโลก ได้ระลึกถึงสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชาย แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในด้านจริยธรรม ภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง ก็ตาม
ทั้งนี้เราขอยกเรื่องราวของสาวไทยสุดแกร่งในพ.ศ. นี้ “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” อดีตแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่งและมวยไทย รุ่นอะตอมเวตหญิง (105-115 ป.) และยังพ่วงตำเเหน่งแชมป์ ONE เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ รุ่นอะตอมเวตหญิงอีกด้วย ซึ่งกว่าจะกลายมาเป็นซูเปอร์สตาร์หญิงและประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้เธอต้องผ่านทั้งร้อนหนาวมามากมาย
เริ่มจากในวัยอนุบาลสาวน้อยจากระยองมักถูกเพื่อนแกล้งที่โรงเรียนเพราะรูปร่างที่เล็กกว่าคนอื่น แต่เมื่อพ่อของเธอเป็นอดีตนักมวยไทยชื่อ “วิสันต์เล็ก ลูกบางปลาสร้อย” ส่วนลุงมีค่ายมวยเล็ก ๆ เป็นของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า “เกียรติบุญเกิน” เธอจึงมีความคิดที่จะซ้อมมวยไว้เพื่อป้องกันตัวเองจากการโดนกลั่นแกล้ง
แต่พรสวรรค์ของ “แสตมป์” ก็เริ่มฉายแวว เธอมุมานะเกินกว่าที่จะใช้ทักษะมวยไทยไว้เพียงเพื่อป้องกันตัว และมีโอกาสขึ้นสังเวียนการแข่งขันครั้งแรก โดย “แสตมป์” โชว์ผลงานน็อกคู่ต่อสู้ได้ตั้งแต่ยกแรก ยิ่งเป็นการตอกย้ำความตั้งใจให้เธอเลือกเดินในเส้นทางนักสู้ตั้งแต่นั้นมา
แม้ “แสตมป์” จะออกเดินสายแข่งจนได้เป็นแชมป์ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ด้วยมวยหญิงในขณะนั้นไม่ได้เป็นที่นิยม ทำให้โอกาสขึ้นชกน้อยลง และยังวนเวียนเจอแต่คู่ชกซ้ำ ๆ หาคู่ชกยากขึ้นเรื่อย ๆ “แสตมป์” จึงตัดสินใจหยุดชกมวยไปถึง 8 ปี
และแล้วเส้นทางนักสู้ของ “แสตมป์” ก็เริ่มต้นอีกครั้งเมื่อเธอได้เข้าร่วมค่ายดังแห่งเมืองพัทยาอย่าง “แฟร์เท็กซ์” ในฐานะนักกีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ซึ่งกำลังเป็นนิยมอย่างสูงในต่างประเทศ โดยถูกวางตัวให้เป็นนักกีฬาหญิง MMA ความหวังคนแรกของค่ายตั้งแต่ตอนนั้น
แม้จะมีความรู้ด้านการต่อสู้ MMA เป็นศูนย์ แต่ด้วยพื้นฐานการต่อสู้ด้านมวยไทย และได้โค้ชมืออาชีพเข้ามาดูแลด้านการฝึกซ้อม บวกกับความพยายามของ “แสตมป์” ทำให้เธอพัฒนาฝีมือและทักษะอย่างรวดเร็ว
หลังจากฝึกปรือวิชา MMA ได้พอตัว “แสตมป์” ได้โอกาสขึ้นเวทีเพื่อพิสูจน์ตัวเองในฐานะผู้เข้าร่วมการแข่งขันรายการ Rich Franklin’s ONE Warrior Series ซึ่งเป็นสังเวียนค้นหานักกีฬาดาวรุ่งจากระดับรากหญ้าที่มีความสามารถโดดเด่นเพื่อเข้าร่วมสังกัดของ ONE
โดยเวที OWS ถือว่ามีความสำคัญมากกว่าเป็นเวทีค้นหานักสู้หน้าใหม่จากทั่วโลก แต่ยังเป็นการส่งเสริมวิชาศิลปะการต่อสู้จากรากหญ้าของแต่ละพื้นที่ในแต่ละประเทศ และเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนนับล้านทั่วโลกด้วยเรื่องราวของความหวัง ความแข็งแกร่ง และความฝันของเหล่านักกีฬาที่ผ่านเวทีนี้
ในไฟต์แรก “แสตมป์” ก็สร้างผลงานชนะน็อกคู่ต่อสู้ด้วยลูกเตะก้านคอภายในเวลาเพียง 12 วินาทีของยกแรก จนถูกดึงตัวให้เป็นนักกีฬาภายใต้สังกัดของ ONE หลังจากนั้นทันที
หลังจากนั้น “แสตมป์” ก็ได้โอกาสประเดิมไฟต์แรกใน ONE ด้วยการเป็นผู้ท้าชิงเข็มขัดแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นอะตอมเวตกับกับ “ไค่ ถิง ฉวง”ผู้เป็นแชมป์โลกในขณะนั้นและกระชากเข็มขัดแชมป์โลก ONE เส้นนี้มาครองได้เป็นเส้นแรก
สี่เดือนต่อมา “แสตมป์” ได้โอกาสชิงเข็มขัดแชมป์โลกอีกเส้น ซึ่งคราวนี้เป็นกติกามวยไทยที่เธอถนัด โดยต้องปะทะฝีมือกับ “เจเน็ต ท็อดด์” ที่มีอายุมากกว่าเธอถึง 12 ปี ตลอด 5 ยกทั้งคู่ต่างขับเคี่ยวกันสุดดุเดือด และท้ายที่สุด “เเสตมป์” ก็คว้าเข็มขัด ONE มวยไทย รุ่นอะตอมเวต มาครองได้เป็นคนแรกของรายการ
แม้ต่อมา “แสตมป์” จะเสียเข็มขัดทั้งสองเส้นไป แต่เธอก็ตั้งเป้าหมายใหม่หันกลับมาเอาดีในสาย MMA โดยตะลุยสร้างฟอร์มชนะ 4 ไฟต์รวดจนได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 8 สาวแกร่งในทัวร์นาเมนต์ MMA ลุยศึก ONE เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ รุ่นอะตอมเวตหญิง
เธอฝ่าด่านคู่แข่งมากฝีมือ ทะลุถึงรอบชิงชนะเลิศ และเอาชนะ “ริตู โฟกาต” สาวนักปล้ำจากอินเดียในยกที่สอง ลบคำสบประมาทเกี่ยวกับทักษะ MMA ของเธอ ประกาศศักดานักกีฬาหญิงไทยคนแรกที่ได้ครองเข็มขัดเงินสุดเลอค่านี้ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.64
ส่งให้เธอได้สิทธิ์ขึ้นชิงแชมป์โลกกับราชินีอะตอมเวต “แองเจลา ลี” แม้จะไม่สามารถกระชากแชมป์ได้ แต่ “แสตมป์” ได้แสดงให้เห็นแล้ว ว่าแม้จะเพิ่งเริ่มต้นในสาย MMA เพียงไม่กี่ปี แต่เธอสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดจนได้รับการยอมรับว่าเป็นนักสู้ MMA หญิงแถวหน้าของรุ่น พิสูจน์ได้จากรางวัล “นักสู้ MMA หญิงยอดเยี่ยม” ประจำปี 2564
ระยะเวลา 4 ปีใน ONE ของ “แสตมป์” ยังทำให้เธอก้าวจากนักมวยโนเนมสู่นักสู้ระดับซูเปอร์สตาร์ หาเงินได้เป็นกอบเป็นกำจนสามารถขยายกิจการสวนทุเรียนของครอบครัวได้อีกด้วย
จากสาวน้อยที่ถูกเพื่อนแกล้งสู่ซูเปอร์สตาร์หญิงระดับโลก “แสตมป์” ในวัย 25 ปีแสดงให้เห็นถึงพลังที่ยิ่งใหญ่ของผู้หญิงคนหนึ่งที่สามารถทำได้ทุกอย่างตามที่ใจต้องการ
อย่างไรก็ตาม “แสตมป์” กำลังกลับไปปั้นฟอร์มท้าชิงบัลลังก์ราชินีอะตอมเวต “แองเจลา” อีกครั้งโดยครั้งนี้ “แสตมป์” จะบินลัดฟ้าลุยศึกใหญ่ที่ ONE ยกพลไปจัดการแข่งขันในดินแดนพญาอินทรีเป็นครั้งแรก โดยมีคิวดวลเดือดกับ “Lil’ Savage” อลิส แอนเดอร์สัน ในกติกาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) รุ่นอะตอมเวต (115 ป.) ในศึก ONE FIGHT NIGHT 10 ซึ่งจะถ่ายทอดสดจาก เฟิร์สแบงก์ เซ็นเตอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกาในวันเสาร์ที่ 6 พ.ค.66
แฟน ๆ สามารถจองบัตรเข้าชมในสนามได้แล้วตอนนี้ที่ onefc.com/onefightnight10 พร้อมทั้งติดตามข่าวสารและความคืบหน้าของศึกนี้ได้ที่นี่และโซเชียลมีเดียของ ONE ทุกช่องทาง ได้แก่ เฟซบุ๊ก ONE Championship Thailand เว็บไซต์ www.onefc.com และอินสตาแกรม ONEChampTh