เส้นทางหญิงแกร่ง “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” จากรากหญ้าสู่ซูเปอร์สตาร์ระดับโลก
เรื่องราวชีวิตและเส้นทางการฟันฝ่านานาอุปสรรคของซูเปอร์สตาร์หญิงแกร่ง “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” จากนักมวยรากหญ้าสู่นักสู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลก
“แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” อดีตแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่งและมวยไทย รุ่นอะตอมเวตหญิง (115 ป.) และปัจจุบันยังพ่วงตำเเหน่งแชมป์ ONE เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ รุ่นอะตอมเวตหญิงอีกด้วย เธอกลายเป็น ฮีโร่หญิง ตัวจริงเสียงจริง ที่โชว์ศักยภาพด้านการต่อสู้และฉายแววอันโดดเด่นบนเวทีระดับโลก ซึ่งประสบความสำเร็จไม่แพ้นักสู้ชาย
แต่กว่าจะเป็น “แสตมป์” นักสู้สาวซูเปอร์สตาร์ระดับโลกอย่างที่แฟน ๆ กีฬารู้จักกันในทุกวันนี้ เธอต้องบุกป่าฝ่าดงผ่านความยากลำบากจากระดับรากหญ้าจนได้โอกาสจาก ONE และไต่เต้าขึ้นมาเป็นนักสู้สาวแกร่งที่นักสู้ด้วยกันต้องยอมรับในฝีมือในปัจจุบัน
เส้นทางนักสู้ของ “แสตมป์” เริ่มต้นในวัยอนุบาลที่ถูกเพื่อนแกล้งที่โรงเรียนเพราะตัวเล็กกว่าคนอื่น แต่เมื่อพ่อของเธอเป็นอดีตนักมวยไทยชื่อ “วิสันต์เล็ก ลูกบางปลาสร้อย” ส่วนลุงมีค่ายมวยเล็ก ๆ เป็นของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า “เกียรติบุญเกิน” เธอจึงมีความคิดที่จะซ้อมมวยไว้เพื่อป้องกันตัวเองจากการโดนกลั่นแกล้ง
แต่ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น กลายเป็นว่าเธอตกหลุมรักต่อศาสตร์การต่อสู้แขนงนี้เกินกว่าจะถอนตัว เธอมุมานะพยายามจนได้มีโอกาสขึ้นสังเวียนการแข่งขันครั้งแรก โดย “แสตมป์” โชว์ผลงานน็อกคู่ต่อสู้ได้ตั้งแต่ยกแรก ยิ่งเป็นการตอกย้ำควมตั้งใจให้เธอเลือกเดินในเส้นทางนี้ตั้งแต่นั้นมา
แม้ “แสตมป์” จะมีพรสวรรค์ทางด้านมวยไทยอย่างเด่นชัด จนกระทั่งได้เป็นแชมป์ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เธอก็ต้องเจอความจริงที่ว่ามวยหญิงนั้นไม่ได้เป็นที่นิยม ทำให้เธอมีโอกาสขึ้นชกน้อย และเวียนเจอแต่คู่ชกซ้ำ ๆ จนหาคู่ชกยากขึ้นเรี่อย ๆ
จากนั้น “แสตมป์” จึงตัดสินใจหยุดชกมวยไปถึง 8 ปี และเริ่มมีความคิดที่จะมาประกอบอาชีพอย่างผู้หญิงทั่วไป และจะชกมวยเป็นอาชีพเสริมแทน
แต่ดูเหมือนฟ้าจะกำหนดให้เธอมาเป็นนักสู้ “แสตมป์” ได้เข้าร่วมค่ายดังแห่งเมืองพัทยาอย่าง “แฟร์เท็กซ์” ในฐานะนักกีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ซึ่งกำลังเป็นนิยมอย่างสูงในต่างประเทศ โดยถูกวางตัวให้เป็นนักกีฬาหญิง MMA ความหวังคนแรกของค่ายตั้งแต่ตอนนั้น
แม้จะมีความรู้ด้านการต่อสู้ MMA เป็นศูนย์ แต่ด้วยพื้นฐานการต่อสู้ด้านมวยไทย และได้โค้ชมืออาชีพเข้ามาดูแลด้านการฝึกซ้อม ทำให้ “แสตมป์” พัฒนาฝีมือและทักษะอย่างรวดเร็ว
เส้นทางนี้เริ่มเข้าที่เข้าทาง โดย “แสตมป์” ได้โอกาสขึ้นเวทีเพื่อพิสูจน์ตัวเองในฐานะผู้เข้าร่วมการแข่งขันรายการ Rich Franklin’s ONE Warrior Series ซึ่งเป็นสังเวียนค้นหานักกีฬาดาวรุ่งจากระดับรากหญ้าที่มีความสามารถโดดเด่นเพื่อเข้าร่วมสังกัดของ ONE
โดยเวที OWS ถือว่ามีความสำคัญมากกว่าเป็นเวทีค้นหานักสู้หน้าใหม่จากทั่วโลก แต่ยังเป็นการส่งเสริมวิชาศิลปะการต่อสู้จากรากหญ้าของแต่ละพื้นที่ในแต่ละประเทศ และเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนนับล้านทั่วโลกด้วยเรื่องราวของความหวัง ความแข็งแกร่ง และความฝันของเหล่านักกีฬาที่ผ่านเวทีนี้
และ “แสตมป์” ก็เป็นหนึ่งในนักกีฬาอีกหลายที่มีความฝันและได้รับโอกาสให้พิสูจน์ความสามารถบนเวทีนี้ โดยเจ้าตัวได้ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นบนเวทีนี้ว่า
“สมัยก่อน นักกีฬาการต่อสู้หญิงไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่ระยะหลังมานี้เริ่มดีขึ้น แต่การจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามาแข่งขันกีฬาการต่อสู้มากขึ้นนั้นจำเป็นต้องมีสนามแข่งขัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าเรียนแล้ว ซ้อมแล้ว แต่ไม่มีที่ให้แข่ง มันก็ยากที่ผู้หญิงจะได้แสดงออกค่ะ”
“และมันเป็นไอเดียที่ดีมากที่ วัน แชมเปียนชิพ มีเวทีค้นหาดาวรุ่งอย่าง OWS (ONE Warrior Series) ซึ่งทำให้คนที่เพิ่งเริ่มต้น หรืออยู่ในระดับสมัครเล่น ได้มีเวทีพิสูจน์ฝีมือตัวเอง และไต่ขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้น อย่างหนูเองก็เริ่มจากเวทีนี้เหมือนกันค่ะ”
ในไฟต์แรกบนเวทีค้นหาดาวรุ่ง “แสตมป์” คว้าชัยชนะด้วยลูกเตะก้านคอน็อกคู่ต่อสู้ด้วยเวลาเพียง 12 วินาทีของยกแรก จนผลงานเตะตากรรมการถูกดึงตัวให้เป็นนักกีฬาภายใต้สังกัดของ ONE หลังจากนั้นทันที
อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถด้านมวยไทยเป็นทุนเดิม “แสตมป์” ได้รับโอกาสให้ประเดิมไฟต์แรกใน ONE ด้วยการเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นอะตอมเวต กับ “ไค่ ถิง ฉวง” ซึ่งเป็นแชมป์อยู่ในเวลานั้น และกระชากเข็มขัดแชมป์โลก ONE เส้นนี้มาครองได้เป็นเส้นแรก
สี่เดือนต่อมา แสตมป์ ได้โอกาสชิงเข็มขัดแชมป์โลกอีกเส้น แต่คราวนี้เป็นกติกามวยไทยที่เธอถนัด โดยต้องปะทะฝีมือกับ “เจเน็ต ท็อดด์” ที่มีอายุมากกว่าเธอถึง 12 ปี ตลอด 5 ยกทั้งคู่ต่างขับเคี่ยวกันสุดดุเดือด และท้ายที่สุด “เเสตมป์” ก็คว้าเข็มขัด ONE มวยไทย รุ่นอะตอมเวต มาครองได้เป็นคนแรกของรายการ
แม้ต่อมา “แสตมป์” จะเสียเข็มขัดทั้งสองเส้นไป แต่เธอก็ตั้งเป้าหมายใหม่หันกลับมาเอาดีในสาย MMA โดยตะลุยสร้างฟอร์มชนะ 4 ไฟต์รวดจนได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 8 สาวแกร่งในทัวร์นาเมนต์ MMA ลุยศึก ONE เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ รุ่นอะตอมเวตหญิง
แม้จะมีประสบการณ์ในการแข่งขัน MMA มาน้อยกว่าคู่แข่งคนอื่น ๆ แต่ “แสตมป์” ก็แสดงทักษะฝีมือที่ไม่ธรรมดา ฝ่าด่านคู่แข่งมากฝีมือ จนทะลุมาถึงรอบชิงชนะเลิศ และในที่สุดก็ “แสตมป์” เอาชนะ “ริตู โฟกาต” สาวนักปล้ำจากอินเดียในยกที่สอง ประกาศศักดานักกีฬาหญิงไทยคนแรกที่ได้ครองเข็มขัดเงินสุดเลอค่านี้ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.64
ส่งให้เธอได้สิทธิ์ขึ้นชิงแชมป์โลกกับราชินีอะตอมเวต “แองเจลา ลี” แม้จะไม่สามารถกระชากแชมป์ได้ แต่ “แสตมป์” ได้พิสูจน์แล้วว่าแม้จะเพิ่งเริ่มต้นในสาย MMA เพียงไม่กี่ปี แต่เธอสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดจนได้รับการยอมรับว่าเป็นนักสู้ MMA หญิงแถวหน้าของรุ่น การันตีได้จากรางวัล “นักสู้ MMA หญิงยอดเยี่ยม” ประจำปี 2564
ด้วยผลงานอันยอดเยี่ยมประกอบกับบุคลิกส่วนตัวที่สดใสร่าเริง ไม่น่าแปลกใจที่ “แสตมป์” จะกลายเป็นขวัญใจของแฟนกีฬาจากทั่วโลก และกลายเป็นหนึ่งในนักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์ของ ONE ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม “แสตมป์” กำลังจะได้ฉายแสงซูเปอร์สตาร์อีกครั้งในกติกาพิเศษ มวยไทย X MMA ศึกลูกผสมหญิงครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ONE กับคู่แข่งสายแข็งจากแดนน้ำหอม “อนิสสา เม็กเซน” ในศึก ONE FIGHT NIGHT 6: ซุปเปอร์บอน vs ชิงกิซ ถ่ายทอดสดจาก อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานีประเทศไทยในช่วงไพรม์ไทม์อเมริกาตรงกับช่วงเช้า 08.00 น. วันเสาร์ที่ 14 ม.ค.66
คงต้องตามลุ้นกันว่า “แสตมป์” จะโชว์ทักษะในทั้งสองกติกาได้ยอดเยี่ยมมากน้อยแค่ไหน แฟน ๆ กีฬาสามารถติดตามโปรแกรมการแข่งขันเต็มของศึก ONE FIGHT NIGHT 6 ได้ที่นี่ และโซเชียลมีเดียของ ONE ทุกช่องทาง โดยสามารถจองบัตรเข้าชมที่ อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี วันนี้ในราคาเริ่มต้น 150 บาท รีบจองก่อน ได้ที่นั่งชัดถนัดตาก่อน คลิกที่ลิงก์นี้ bit.ly/OFN6BKK
อ่านเพิ่มเติม: