จับเข่าคุยกับกรรมการจอมเฮี้ยบ “โอลิเวียร์ คอสต์” เจ้าของเสียง “ชก”! แห่งเวที ONE

Web pic 1920 1278 2022 06 13T143452.077

ในกีฬาการต่อสู้ นอกจากนักกีฬาที่เป็นหัวใจของไฟต์นั้น ๆ แล้ว กรรมการผู้ตัดสินบนเวทีถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่จะทำให้แต่ละไฟต์ดำเนินไปอย่างถูกต้องตามกติกาโดยเป็นผู้มีสิทธิ์เด็ดขาดในการกำหนดผลแพ้ชนะตามเหตุการณ์ที่สามารถพลิกผันได้ในชั่ววินาที เพื่อให้ความยุติธรรมกับนักกีฬาทั้งสองฝ่าย และสร้างความประทับใจให้กับคนดูได้ตั้งแต่ต้นจบเกม


Tawanchai Niclas Larsen ONE158 1920X1280 22


สำหรับแฟนกีฬาที่ติดตาม ONE น่าจะได้เห็นการทำหน้าที่อย่างแข็งขันและเฉียบขาดของกรรมการตัดสินบนเวทีมาแล้ว โดยหนึ่งในนั้นซึ่งน่าจะเป็นที่จดจำได้ดี คือกรรมการมาดเฮี้ยบหน้านิ่งเจ้าของเสียง “ชก”! เป็นภาษาไทยแบบชัดถ้อยชัดคำ มิหนำซ้ำยังพูดไทยชัดเป๊ะเมื่อต้องอธิบายกติกาให้นักกีฬาชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง ชื่อของเขาคือ “โอลิเวียร์ คอสต์” หรือที่ทุกคนใน ONE มอบสมญาให้ว่า “Boss” (เจ้านาย)

โอลิเวียร์ เป็นที่รู้จักในฐานะกรรมการผู้ตัดสินมืออาชีพระดับโลกที่มีประสบการณ์การตัดสินกีฬาการต่อสู้มาหลายเวทีทั่วโลก และยังได้รับรางวัล Best MMA Referee 2019 จากเวทีอันทรงเกียรติของประเทศสิงคโปร์อีกด้วย แต่น้อยคนจะรู้ว่า ก่อนหน้านี้ เขาเคยสวมบทบาทอันหลากหลาย เริ่มตั้งแต่เป็นนักดับเพลิง นักกีฬามวยไทย แม้กระทั่งสตันท์แมน  



วันนี้ เราจึงขออาสาพาไปจับเข่าคุยกับกรรมการมือโปร โอลิเวียร์ เพื่อให้แฟนกีฬาชาวไทยได้รู้จักชีวิตและตัวตนของเขามากยิ่งขึ้น

ONE: ช่วยแนะนำตัวเองให้แฟน ๆ ได้รู้จักหน่อย

โอลิเวียร์: “สวัสดีครับ (ไหว้) ผมเป็นกรรมการของ ONE มาตอนนี้ก็ 10 ปีแล้วครับ ผมมาอยู่เมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี 2547 เพราะอยากเรียนมวยไทยครับ ผมก็ไปฝึกมวยไทยที่ค่ายลูกบ้านใหญ่ แถวรัชดา จนในปี 2553 เพื่อนผมที่เขาเป็นกรรมการให้การแข่งขัน MMA ก็มาชวนให้ผมลองไปเป็นกรรมการรายการแข่งขัน MMA สมัครเล่นที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยตอนนั้นครับ จากจุดเริ่มต้นตรงนั้น ผมก็ได้โอกาสเป็นกรรมการของหลาย ๆ เวทีในหลายประเทศจนได้มาทำงานกับ ONE ครับ”


โอลิเวียร์กับภรรยาชาวไทยและลูก ๆ


“ตอนผมอยู่เมืองไทย ก็ได้เจอกับภรรยาคนไทยที่หัวหินเมื่อ 7 ปีที่แล้วครับ แล้วก็แต่งงานกัน ตอนนี้มีลูก 2 คน คนโตเป็นลูกสาวอายุ 6 ขวบ และก็คนเล็กเป็นลูกชายอายุ 5 ขวบครับ ตอนนี้ทั้งครอบครัวย้ายมาอยู่ที่ฝรั่งเศสแล้วครับ ผมเองก็ต้องบินไปสิงคโปร์ทุกเดือนเพื่อทำหน้าที่กรรมการ ก็เหนื่อยหน่อยแต่ไม่เป็นไรครับ ผมชอบเป็นกรรมการ ระหว่างที่ไม่มีรายการ ผมก็ทำงานเป็นตำรวจดับเพลิงที่ฝรั่งเศสด้วยครับ”

ONE: คุณเคยบอกว่าเคยเป็นนักกีฬามาก่อน ทำไมถึงตัดสินใจมาเป็นกรรมการ และต้องปรับตัวมากน้อยแค่ไหน?

โอลิเวียร์: โดยส่วนตัว ผมชอบศิลปะการต่อสู้อยู่แล้วด้วย ผมรู้สึกสนุกที่ได้อยู่ในสังเวียนในฐานะกรรมการ ผมรู้สึกว่ากรรมการก็มีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของไฟต์นั้น ๆ ความแตกต่างก็คือผมไม่ต้องโดนชกหรือโดนเตะครับ สำหรับผม ผมรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่มีส่วนร่วมในแต่ละไฟต์ครับ”



“สิ่งที่สำคัญในการทำหน้าที่กรรมการสำหรับผม คือการให้แฟน ๆ ได้เห็นนักสู้ที่ดีที่สุดใน วัน แชมเปียนชิพ ไม่ว่าจะเป็นมวยไทย คิกบ็อกซิ่ง หรือ MMA ผมอยากให้พวกเขาได้เห็นว่ากรรมการอยู่ที่นั่นเพื่อทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้นักกีฬา ผมไม่อยากให้พวกเขาฝืนแข่งและลงเอยด้วยการบาดเจ็บหนัก เวลาคุณลงแข่งและได้รับบาดเจ็บสะสมมากเกินไป คุณจะประกอบอาชีพนักสู้ได้อีกไม่นาน ดังนั้น ผมจึงอยู่ตรงนั้นเพื่อสั่งยุติการแข่งขันเมื่อผมเห็นว่าจำเป็น แม้พวกเขาจะแพ้ แต่เขาก็ยังสามารถสู้ต่อไปในอนาคต จนกว่าเขาจะพบกับชัยชนะครับ”



ONE: ในฐานะกรรมการตัดสินบนเวทีต้องตัดสินใจอย่างทันท่วงที คุณรู้หรือเห็นสัญญาณอะไรที่บ่งชี้ว่านักสู้คนนั้นไม่สามารถทำการแข่งต่อไปได้และต้องยุติการชกแล้ว?

โอลิเวียร์: “บางครั้งผมก็จะมองตานักกีฬา เพื่อที่ผมจะได้อ่านอารมณ์นักสู้คนนั้นออก ยกตัวอย่างเช่น เขายังสู้ไหว หรือเขาเหนื่อยแล้ว หรือกำลังเจ็บ ดวงตาของคนเราสามารถสื่อความหมายได้หลายอย่าง และก็ดูจากภาษากายด้วย อย่างบางครั้งถ้าเขาคอตก และหลังชนเชือก นี่คือสัญญาณบ่งบอกว่าอีกไม่ช้าผมจะต้องยุติการแข่งขัน”

ONE: มีบ้างไหมที่คุณเข้าใจนักกีฬาผิดไป?

โอลิเวียร์: “มีบ้างครับ บางครั้งคุณคิดว่านักสู้คนนั้นยังไหวอยู่ และคุณอยากให้โอกาสเขาสู้ต่อ แต่สัญญาณเหล่านั้น บางทีก็ซับซ้อน เพราะนักกีฬาบางคนก็เก็บอาการเก่งมาก พวกเขาพยายามไม่แสดงสีหน้าอาการใด ๆ ออกมา และคุณก็ต้องพยายามอ่านให้ออกว่าเขาโอเคจริงหรือเปล่า เรื่องอย่างนี้ก็เกิดขึ้นได้นาน ๆ ทีครับที่ผมอ่านอาการพวกเขาได้ยากมาก แต่ส่วนมากผมจะดูออกทั้งหมดแหละครับ ผมจะรู้ได้เลยว่าพวกเขาไม่ไหวแล้ว” 




ONE: ในบางครั้งที่ผลการตัดสินออกมาไม่เคลียร์จนนักกีฬาหรือแฟน ๆ ออกมาโต้แย้ง แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของคุณ คุณมีวิธีอธิบายให้คนที่ไม่พอใจเหล่านี้เข้าใจอย่างไร?

โอลิเวียร์: “เราต้องให้เขาเข้าใจก่อนว่าเราจำเป็นต้องตัดสินใจภายในเสี้ยววินาที เพราะในสถานการณ์จริง ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก และที่สำคัญ คำตัดสินใจนั้นก็เพื่อความปลอดภัยของนักกีฬาเอง ดังนั้น ผมก็ต้องพยายามทำให้พวกเขาเข้าใจผมในจุดนี้ ใจจริงผมอยากให้โอกาสนักกีฬาให้มากที่สุดที่ผมทำได้ แต่ผมก็มีขีดจำกัดของผม ผมอยากให้แต่ละไฟต์จบลงด้วยความปลอดภัย หรือเกิดการเจ็บตัวน้อยที่สุด นี่คือสิ่งที่ผมอยากให้พวกเขาเข้าใจ”

ONE: บางคนพูดถึงการตัดสินในแง่ลบ และอาจพูดจาไม่ดีใส่คุณ คุณรับมือกับคำพูดแย่ ๆ เหล่านี้อย่างไร?

โอลิเวียร์: “จริง ๆ ผม เป็นคนมองโลกในแง่ดีนะครับ แต่ผมไม่สามารถตอบโต้ทุกคำพูดของทุกคนได้ บางครั้ง ถ้าสิ่งที่พวกเขาพูดฟังสมเหตุสมผลดี ผมก็จะตอบกลับ แต่ส่วนใหญ่ผมจะพยายามคิดในแง่บวกเข้าไว้ และทำให้พวกเขาเข้าใจว่างานของเรามันยากมาก และส่วนใหญ่ที่พวกเขาตำหนิมา มักจะเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเท่าไหร่ ผมก็พยายามที่จะให้พวกเขาเข้าใจว่าความปลอดภัยนักกีฬาต้องมาอันดับแรก แต่ส่วนใหญ่ผมจะได้รับคอมเมนต์ดี ๆ จากแฟน ๆ นะครับซึ่งผมดีใจมาก”



ONE: ไฟต์ไหนที่คุณชื่นชอบมากที่สุดใน ONE

โอลิเวียร์: “เยอะเลยครับ เพราะผมชื่นชมและชื่นชอบนักสู้ทุกคนที่ขึ้นมาบนสังเวียน และทุ่มเทเพื่อแฟน ๆ ผมยกย่องพวกเขาทุกคน แต่ถ้าจะให้ผมเลือก ผมจะเลือกไฟต์ของนักมวยไทยอย่าง ตะวันฉาย หรือ น้องโอ๋ เพราะทุกไฟต์ของพวกเขาตื่นเต้นเร้าใจเสมอ เรียกได้ว่าเป็นไฟต์ที่ผมจดจำได้มากที่สุดก็ว่าได้ครับ เพราะผมชอบมวยไทย และพวกเขาก็เก่งมากครับ”

“มีหลายไฟต์เลยที่ผมสนุกกับการทำหน้าที่กรรมการ จริง ๆ ผมชอบทุกไฟต์ครับ เพราะผมนับถือนักสู้ทุกคนที่เสียสละ ฝึกฝน และทำเต็มที่เพื่อแฟน ๆ และเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพครับ”



ONE: ในทางกลับกัน ประสบการณ์สุดแปลก น่าอึดอัดใจ หรือคาดไม่ถึงที่สุดที่คุณเคยเจอใน ONE คืออะไร?

โอลิเวียร์: “ผมว่าคุณรู้นะ ตอนที่ผมโดนนักสู้จับล็อกขา นั่นแหละคือที่สุดแล้ว  ทีแรกผมกลัวมาก เพราะผมไม่ได้มาเพื่อการนี้ และผมไม่พร้อมที่จะสู้กับใคร ผมเลยปล่อยให้เขาทำไปก่อน เพราะคิดว่าเขาจะหยุดเอง เพราะเขาน่าจะเห็นกางเกงและรองเท้าของผมอยู่บนหน้าของเขา แต่เขาก็ยังล็อกขาผมแน่นเพราะไม่รู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ และเขาก็ทำต่อไป ผมมีปัญหาที่หัวเข่าอยู่แล้ว ผมถึงกังวลเรื่องหัวเข่ามาก โชคดีที่เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ เข้ามาช่วยผม”

“แต่หลังการแข่งขันเขาบอกผมว่าเขาเสียใจมาก เขาเอาแต่ขอโทษผม ผมก็บอกว่าไม่เป็นไร อย่างที่บอก ผมมาอยู่ที่นั่นเพื่อความปลอดภัยของคุณ และผมเห็นแล้วว่าคุณเจอมาหนักพอแล้ว เขาแค่พยายามล็อกขาผม และเห็น ๆ กันอยู่ว่าตอนนั้นเขาไม่รู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ เขาไม่ได้ตั้งใจครับ นั่นเป็นประสบการณ์ที่น่ากลัวที่สุดสำหรับผมเลย ถ้านอกจากเรื่องนี้แล้ว ผมโอเคหมดครับ”  



ONE: ก่อนมาที่ ONE คุณเคยเป็นกรรมการให้กับหลายเวทีมาก่อน คุณเห็นความแตกต่างระหว่างองค์กรเหล่านั้นเมื่อเทียบกับ ONE ไหม? สิ่งที่ประทับใจที่สุดของ ONE คืออะไร?

โอลิเวียร์: “สำหรับผมคงเป็นงานโปรดักชัน เวที และค่านิยมขององค์กร ภาพลักษณ์ต่าง ๆ ที่คุณเห็น ผมคิดว่ามันเป็นมาตรฐานที่สูงมาก ทีมงานทั้งกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่ผมร่วมงานด้วยมีความเป็นมืออาชีพมาก  นี่คือสิ่งแรกที่ผมรู้สึกเมื่อผมเข้ามาร่วมกันงานกับ วัน แชมเปียนชิพ เป็นครั้งแรก” 

“นอกจากนั้น เหล่านักกีฬาของ ONE แต่ละคนล้วนเป็นนักสู้ระดับสูง ทั้งในสาขา MMA มวยไทย คิกบ็อกซิ่ง และตอนนี้เรามีแต่นักสู้ระดับตัวท็อปทั้งนั้น มันเป็นสิ่งที่ผมประทับใจมาก และยิ่งเวลาผ่านมาตอนนี้สิบปีแล้ว เราก็ยิ่งมีนักสู้ที่เก่งขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้แฟน ๆ ดูการแข่งขันของเราได้สนุกมากขึ้นด้วยครับ” 



ONE: ถ้าให้เทียบกีฬาสามประเภท MMA, มวยไทย และคิกบ็อกซิ่ง คุณว่ากีฬาไหนที่ทำหน้าที่ผู้ตัดสินได้ยากที่สุด? 

โอลิเวียร์: สำหรับผมคือ MMA ครับ เพราะมันเป็นกีฬาที่รวมศาสตร์ทุกอย่างเข้าด้วยกัน มีกติกาให้ต้องเรียนรู้เยอะมาก มีทั้งเกมยืนและเกมภาคพื้น ผมว่าศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานนี่แหละยากสุด เรามีเทคนิคซับมิชชันที่แตกต่างกันหลายชนิด และบางครั้งพวกเขาก็ยืนสู้กันและซัดกันจนน็อกเอาต์”

ONE: ทุกคนใน ONE มอบฉายาให้คุณว่า “Boss” ช่วยเล่าที่มาของฉายานี้ให้ฟังหน่อย

“ผมคิดว่าที่เรียก บอส มาจากตอนที่ผมอยู่บนเวที นักสู้และพี่เลี้ยงจะต้องเชื่อฟังผม ผมไม่อยากจะพูดว่าผมวางอำนาจนะ แต่ผมแค่อยากให้พวกเขาเคารพกติกา และผมก็เคร่งครัดมาก จนบางทีผมก็เผลอทำหน้าดุไม่รู้ตัว แต่ปกติผมเป็นคนยิ้มเก่งนะ ผมเข้มงวดเพราะไม่อยากให้เกิดความผิดพลาดใด ๆ บนสังเวียน ผมคิดว่าตรงนี้ล่ะมั้งที่ทำให้พวกเขาเรียกผมแบบนั้นครับ”


Kwon Won Il Fabricio Andrade ONE158 1920X1280 30


ONE: อะไรคือความท้าทายที่สุดสำหรับคุณในฐานะกรรมการ?

โอลิเวียร์: สำหรับผม สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับการเป็นกรรมการคือการยุติการต่อสู้ในจังหวะที่ถูกที่ควรพอดี คุณไม่สามารถหยุดเร็วหรือช้าไปแม้แต่วินาทีเดียว และมันยากมากที่จะหาจังหวะนั้นได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ ที่คุณจะรู้ว่า ตอนนี้แหละ แต่ผมดีใจจริง ๆ ที่ผมหาจังหวะที่ว่าเจอเกือบทุกครั้ง 

ONE: กรรมการอย่างคุณต้องทำอะไรบ้าง ทั้งก่อนแข่ง ระหว่างแข่ง และหลังแข่ง? 

โอลิเวียร์: สำหรับผม ผมจะนอนหลับให้เต็มที่ เพราะมันสำคัญมาก คุณต้องพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารดี ๆ เพราะเมื่อคุณต้องวิ่งวนไปรอบเวทีตลอด ต้องใช้พลังงานเยอะมาก และก่อนวันแข่งผมก็จะออกกำลังกายอยู่เสมอ เพื่อที่ผมจะได้ตื่นตัวและฟิตเต็มที่ตอนอยู่บนเวที ส่วนในวันแข่ง ผมจะพยายามจดจ่อไปกับการแข่งทั้งหมด ทั้งในระหว่างไฟต์และหลังจบไฟต์ หลังการแข่งผมจะปรึกษากับทีมงานทั้งหมดถึงเรื่องอีเวนต์ที่ผ่านไปว่าตรงไหนที่เราทำได้ดี ตรงไหนยังไม่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีครับที่เราได้มาคุยกันหลังจบอีเวนต์

สำหรับนักกีฬา ปกติจะมีการประชุมเรื่องกฎกติกาหนึ่งถึงสองวันก่อนวันแข่ง สิ่งที่ผมทำก่อนที่พวกเขาจะสู้กันคือการตอกย้ำให้แน่ใจพวกเขาเข้าใจกติกาและถามนักกีฬาว่าพวกเขามีคำถามหรืออยากรู้อะไรไหม ถ้ามี ผมก็จะอธิบายให้พวกเขาเข้าใจจนทะลุปรุโปร่ง ก็ประมาณนี้ครับ แต่พวกเขาเป็นมืออาชีพที่สู้มานานแล้ว พวกเขารู้กติกากันดีอยู่แล้วครับ 



ONE: ความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตกรรมการของคุณคืออะไร?

โอลิเวียร์: ความภูมิใจของผมคือการได้มีปฏิสัมพันธ์กับแฟน ๆ และนักกีฬา ผมจะดีใจมากถ้าพวกเขามาขอให้ผมเป็นกรรมการตัดสินในการต่อสู้ของเขา เพราะพวกเขารู้ดีว่าจะปลอดภัยภายใต้การดูแลของผม ซึ่งทำให้ผมรู้สึกดีมาก ๆ แฟน ๆ ส่วนใหญ่ก็เขียนข้อความหรือคอมเมนต์ถึงผมในแง่ดี ว่าผมทำหน้าที่ของผมได้ดีในแต่ละไฟต์ ทำให้ผมปลื้มใจและสร้างพลังให้ผมมากครับ


อ่านเพิ่มเติม:

ดูเพิ่มเติมในหมวด บทความ

NL 1852
Jonathan Haggerty Superlek Kiatmoo9 ONE 168 65
Superlek Kiatmoo9 vs Takeru Segawa ONE 165 (17)
ONE167 Kade Ruotolo VS Blake Cooper (20)
Jonathan Haggerty Superlek Kiatmoo9 ONE 168 80
Anatoly Malykhin Oumar Kane ONE 169 78
1860141 (1)
Lumpinee Bonus 1920x1080px
Lumpinee Contract 1920x1080px
Kiamrian Abbasov Christian Lee ONE on Prime Video 4 1920X1280 34
1820285
11 Anatoly Malykhin VS Oumar Kane one 169 (33)