WFH Wednesday “ครูตอง” ใช้ภาษาจีนต่อยอดสร้างโอกาสสอนศิลปะการต่อสู้
นักกีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน เจ้าพ่ออุปกรณ์ฝึกซ้อม แห่งสังเวียน วัน แชมเปียนชิพ “ครูตอง” ชนนภัทร วิรัชชัย นอกจากวิชาการต่อสู้ที่เขาสนใจมาตั้งแต่วัยเด็กแล้ว ยังมีอีกหนึ่งองค์ความรู้ที่เขาร่ำเรียนและฝึกฝนมาโดยตลอดจนถึงตอนนี้นั่นคือ “ภาษาจีน”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาษาที่สองและสามมีความจำเป็นมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะภาษาสากลอย่างภาษาอังกฤษ รวมถึงภาษาจีนที่เฉพาะประเทศนี้มีประชากรถึง 1.3 พันล้านคน (ประเทศไทยมี 70 ล้านคน) จินตนาการเอาเถอะว่า ถ้าสื่อสารภาษาจีนได้ก็สามารถทำธุรกิจกับจีนประเทศเดียวก็เหลือเฟือแล้ว
ครูตอง เริ่มสนใจเรียนภาษาจีนสมัยอยู่ชั้น ป.2 หลังจากชมภาพยนตร์จีนเรื่องดังอย่าง เปาบุ้นจิ้น และ ไซอิ๋ว ซึ่งด้วยเทคนิคการพากษ์เสียงในสมัยนั้นอาจยังไม่ดีพอ จึงทำให้มีเสียงภาษาจีนจากต้นฉบับแทรกออกมาเป็นระยะๆ และทำให้เขาสงสัยตลอดว่า ตัวละครนั้นพูดอะไร
ประจวบเหมาะกับที่แถวบ้านมีโรงเรียนสอนภาษาจีนมาเปิด ครูตองจึงขอแม่ไปเรียน แต่ปรากฏว่าครูสอนภาษาบอกว่าเขายังเด็กเกินไปในวัยนั้น
หลังจากพับเสื่อเรื่องเรียนภาษาจีนไปนาน ก็ถึงช่วงเปลี่ยนผ่านจากชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นสู่ตอนปลายสมัยเรียนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครูตอง ตั้งใจเลือกสายศิลป์ภาษาจีน แต่ที่โรงเรียนมีแต่ภาษาญี่ปุ่น เขาจึงเลือกเรียนภาษานี้แทนไปก่อน
กระทั่งมหาวิทยาลัยจุฬาฯ มีการเปิดสอนพิเศษภาษาจีนในช่วงวันหยุด ครูตอง จึงลองไปสมัครเรียน แต่พอเอาเข้าจริงกลับพบว่าไม่ชอบ เพราะมันมีหลักการและกฎเกณฑ์ที่ต้องท่องจำมากมาย อีกทั้งคนที่มาเรียนก็มีแต่นักศึกษามหาวิทยาลัย ทำให้เขาไม่มีเพื่อนในวัยเดียวกันเลยสักคน
หลังจบชั้นมัธยมปลาย ครูตอง เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะมนุษย์ศาสตร์ ได้เรียนภาษาจีนสมใจ การเรียนของเขานั้นร่อแร่ จนจำเป็นต้องซ่อมเกรดด้วยการไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ประเทศจีน ณ เมืองกวางโจว ประมาณ 2 สัปดาห์
ที่ประเทศเจ้าของภาษา ทำให้การเรียนภาษาจีนของ ครูตอง พัฒนาขึ้นชนิดก้าวกระโดด เพราะเขาจำเป็นต้องใช้มันในชีวิตประจำวัน ขนาดเพื่อนร่วมชั้นเรียนเองก็ยังประหลาดใจ แถมกวางโจวยังเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้เพิ่มเติมให้เขาด้วย
ความรู้ความสามารถด้านภาษาจีน ยังประโยชน์มาให้ ครูตอง อย่างชัดเจนขึ้น เมื่อเข้ามาเป็นนักกีฬาในสังกัดของ วัน แชมเปียนชิพ ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่มีพนักงาน เจ้าหน้าที่ และนักกีฬาจากหลากหลายประเทศที่สื่อสารด้วยภาษาจีน ครูตอง จึงใช้ความสามารถพิเศษด้านนี้ในการสื่อสารและเชื่อมมิตรภาพกับเพื่อนนักกีฬาได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
ในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้านจากสถานการณ์โควิด-19 ครูตอง ซึ่งได้รับผลกระทบเนื่องจากการจัดแข่งขันกีฬาไม่ได้ เขาจึงเริ่มหันมาใช้โซเชียลมีเดียสัญชาติจีนอย่างจริงจัง ทั้ง “ซินล่างเวย์ปั๋ว” และ “วีแชท” ทำให้มองเห็นโอกาสในตลาดออนไลน์แห่งใหม่ เพื่อต่อยอดเรื่องภาษาและการต่อสู้ในคราวเดียวกัน
ครูตอง ได้ลองใช้แอปพลิเคชัน “เสี่ยวหงซู” ซึ่งมีความหมายว่า Red Book หรือสมุดบันทึก ลักษณะคล้ายอินสตาแกรม แต่มีเนื้อหาที่เน้นสาระมากกว่า มีการแชร์อาชีพแปลกๆ งานคราฟต่างๆ ที่น่าสนใจ
เขาจึงลองทำคลิปการออกกำลังกายด้วยการพูดและสอนเป็นภาษาจีน มีซับไตเติลเป็นภาษาอังกฤษบ้างเป็นบางคลิป ปรากฏว่ามีคนจีนเข้ามาดูเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้เขามองเห็นโอกาสสร้างรายได้เสริมในอนาคต นอกเหนือจากการเป็นนักกีฬาแข่งขันบนสังเวียนซึ่งเป็นงานหลัก
ไม่แน่นะในอนาคตเราอาจมีเน็ตไอดอลศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานชาวไทยที่มีชื่อเสียงในโซเชียลมีเดียจีนก็ได้…ใครจะรู้
躲闪 ตว๋อส่าน = หลบหมัดเป้าเจียลี่ย่า X ไม่ใช่ เป้าจ้าลี่ย่า = บัลแกเรียหม่ามะหู่หุ = ม้าๆเสือๆ = สักแต่ว่า คล้ายงูๆปลาบ้านเราแหละมั้ง 5555คิดไว้นานแล้วว่าซักวันเปิดสำนักจะใช้สัญลักษณ์เป็นงูปลาม้าเสือ
Posted by Shannon Cai on Friday, May 22, 2020
อ่านเพิ่มเติม: