รู้จัก “OneShin Striking System” สไตล์การต่อสู้ที่คิดค้นโดย “ครูตอง” ชนนภัทร
“ครูตอง” ชนนภัทร วิรัชชัย นักกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) รุ่นบุกเบิกของประเทศไทย ที่ลงแข่งในเวทีระดับโลก วัน แชมเปียนชิพ ตั้งแต่ช่วงเปิดตัว มีจุดเริ่มต้นจากการชมภาพยนตร์เรื่อง “นายขนมต้ม“ ซึ่งมีวีรบุรุษเหรียญทองคนแรกอย่าง “สมรักษ์ คำสิงห์” เป็นตัวแสดง จึงทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะเดินทางสายนี้ กระทั่งได้คิดค้นสไตล์การต่อสู้ในแบบฉบับของตัวเองในชื่อ “OneShin Striking System”
ครูตอง เริ่มต้นจากการฝึกยูโดและกังฟู ก่อนที่จะก้าวไปเรียนรู้วิชาบราซิลเลียนยิวยิตสู มวยไทย มวยปล้ำ และมวยสากล เขาซึมซับองค์ความรู้จากแต่ละสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา แล้วนำไปใช้บนเวที จนมีสถิติปิดเกมแบบไม่ครบยกได้เกินกว่าครึ่งของชัยชนะทั้งหมดที่ผ่านมา
“OneShin Striking System อันที่จริงผมแค่ตั้งชื่อให้มันฟังดูเท่ๆ เท่านั้นแหละครับ (หัวเราะ) สิ่งที่อยู่ในเคล็ดวิชานี้เป็นเพียงพื้นฐานการต่อสู้จากวิชาต่างๆ ที่ผมเคยเรียนมา โดยมีหลักการที่ผมเรียกว่า ‘R.A.R.E”
หลักการนี้มีความสำคัญต่อ OneShin Striking System อย่างไร เราไปขยายความกันต่อค่ะ
สมดุล (Balance)
ความสมดุล คือหลักการสำคัญในการเล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมทางกายทุกประเภท การควบคุมสมดุลของตำแหน่งวางเท้า และการตั้งท่าอย่างถูกต้อง คือพื้นฐานในการฝึกฝนท่าโจมตีในทุกศิลปะการต่อสู้ ครูตอง เน้นว่านี่คือพื้นฐานอันดับแรกที่คุณต้องฝึกให้แน่น ก่อนที่คุณจะพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ที่เหลือ
“ในการออกอาวุธ คุณต้องมั่นใจก่อนว่าคุณมีการทรงตัวที่ดี ไม่ว่าคุณจะออกหมัดยาวหรือสั้น เหวี่ยงแขนกว้างหรือแคบ ตราบใดที่คุณมีสมดุลที่ดี R ตัวแรกจะช่วยคุณ”
“แต่ถ้าคุณออกหมัดโดยที่เท้าไม่ได้อยู่ติดพื้น หรือไม่สามารถนำหัวกลับสู่ตำแหน่งที่สมดุลได้ คุณก็มีทางเลือกสองทางคือ หนึ่ง หวังว่าหมัดที่เหวี่ยงไปจะโดนเป้าหมาย หรือไม่คุณก็จะเปิดช่องให้คู่ต่อสู้แทน”
ระยะ (Range)
อักษร R ตัวแรกในหลักการ R.A.R.E ของครูตอง หมายถึง “Range” ซึ่งหมายถึง ระยะห่างระหว่างคุณกับคู่ต่อสู้ ซึ่งในศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานนั้น ทุกระยะล้วนมีความสำคัญ เพราะจะทำให้การโจมตีในท่ายืนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“ถ้าคุณเชี่ยวชาญด้านการกะระยะ คุณจะรู้ว่าต้องเข้า-ออกยังไงโดยที่ยังคงสมดุลของร่างกายได้ แม้แต่ในกรณีที่คุณมีพื้นฐานการชกที่ไม่ดีนัก คุณก็ยังต่อยโดนคู่ต่อสู้และหลบออกมาได้โดยไม่ถูกต่อยกลับ ถ้าอยากพัฒนาในด้านนี้ คุณต้องหมั่นฝึกฟุตเวิร์กเป็นประจำ”
องศา (Angle)
อักษร A ตัวที่สองมาจากคำว่า “Angle” ซึ่งหมายถึง องศา มีอยู่หลายกรณีทีเดียวที่คุณมีระยะที่ดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับการรับมือคู่ต่อสู้ เพราะเขาก็ทำได้ดีเช่นเดียวกัน ดังนั้นคุณต้องเพิ่มองค์ประกอบการเคลื่อนไหวให้มากกว่าเดิมจากที่มีอยู่
“การยืนต่อหน้าคู่ต่อสู้ ผลัดกันเข้าออกอย่างนี้ทั้งวัน แต่ไม่มีใครชกโดนใคร โดยเฉพาะเมื่อคู่ต่อสู้มีความว่องไวและเคลื่อนไหวหลบหลีกออกจากระยะของคุณได้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในการแข่งขันคาราเต้”
“ดังนั้นเรื่องของการเปลี่ยนมุม จึงเป็นตัวช่วยเข้ามาเปลี่ยนเกมได้ บางครั้งคุณต้องสร้างองศาของตัวเอง หลบฉากไปด้านข้าง เอี้ยวตัวเพื่อดูแนวโน้มทิศทางโจมตีของคู่ต่อสู้ แล้วกลับไปเล่นเกมกะระยะเพื่อโจมตีอีกครั้ง”
“นอกจากนี้ หลายครั้งทีเดียวเมื่อคุณใช้การกะระยะด้วยการสืบเท้าเข้าโจมตี ไม่ว่ามันจะสร้างความเสียหายได้หรือไม่ ถ้าคู่ต่อสู้เริ่มที่จะหันหนีหรือเปลี่ยนท่าตั้งรับ ก็เท่ากับว่าพวกเขาได้สร้างองศาการโจมตีให้กับคุณแล้ว”
จังหวะ (Rhythm)
ในศิลปะการต่อสู้จากทุกมุมโลก ไม่ว่าจะมีเป้าหมายเพื่อป้องกันตัวหรือเพื่อเป็นกีฬา ล้วนหนีไม่พ้นท่าโจมตีพื้นฐานที่มาจากหมัด เท้า เข่า และศอก ซึ่งการผสมผสานอาวุธพื้นฐานทั้งสี่ให้สัมพันธ์กันอย่างเหมาะสมและหลากหลาย สามารถสร้างท่าโจมตีได้เกือบจะไม่มีสิ้นสุด
“เมื่อคุณพบตำแหน่งการโจมตี หรือรู้ว่ามันอยู่ตรงไหน คุณสามารถที่จะออกอาวุธได้มากกว่าหนึ่ง หรือที่เรียกว่าการออกอาวุธเป็นชุด ซึ่งจะใช้ท่าชุดพื้นฐานอย่าง หมัดตรง–ฮุก–หมัดตรง หรือ อัปเปอร์คัต–ฮุก-หมัดตรง–เตะล่าง ก็ได้ แต่จริงๆ คุณสามารถสร้างสรรค์ท่าชุดในแบบเฉพาะของตัวเอง ด้วยการใช้อักษร R ตัวที่สาม ที่มาจากคำว่า Rhythm เข้ามาช่วย”
“โน้ตตัวเดียวสามารถทำให้เกิดเสียงๆ เดียวก็จริง แต่เมื่อคุณเปลี่ยนจังหวะ โน้ตตัวนั้นก็จะฟังดูแตกต่างออกไป หรืออาจจะกลายเป็นเพลงอื่นเลยก็ได้”
“การโจมตีก็เหมือนกัน คุณอาจจะใช้ท่าชุดเดิมๆ แต่ถ้าคุณเร่งมันให้เร็วขึ้น ช้าลง จริงบ้าง หลอกบ้าง ผสมผสานกับการกะระยะ และสร้างองศา ก็เท่ากับว่าคุณสามารถสร้างท่าชุดได้อย่างหลากหลาย ไม่ต่างอะไรจากนักดนตรีที่ใช้โน้ตตัวเดียวกัน แต่ได้เสียงที่ออกมาหลายแบบ”
ลงมือปฏิบัติ (Execution)
จริงๆ E ตัวสุดท้ายที่มาจาก “Execution” ซึ่งหมายถึง การลงมือปฏิบัติ มันก็เพียงการย้ำเตือนว่าถ้าทำ 3 อย่างแรกได้ครบ ควบคุมได้ทั้งหมดแล้ว ก็ตัดสินใจลงมือทำเทคนิคแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น
“ไม่มีเทคนิคอะไรในบทเรียนนี้ แต่เมื่อคุณชำนาญเรื่อง R.A.R. แล้ว คุณก็ลงมือปฏิบัติได้เลย แต่ทั้งนี้คุณต้องมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรมาเซอร์ไพรส์คุณได้ ซึ่งหากคุณมั่นใจและคุมเกมได้แล้ว ก็ลงมือเลย”
อ่านเพิ่มติม: ความปราชัยซ้ำซาก ไม่อาจทำลายการคิดบวกของ “ครูตอง” ชนนภัทร