3 เหตุผลที่คุณควรฝึกศิลปะการต่อสู้กับเพื่อนร่วมงาน
การฝึกฝนศิลปะการต่อสู้แบบกลุ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และหากบริษัทที่คุณทำงานมีสวัสดิการทำนองนี้เตรียมไว้ให้ ก็นับว่าโชคดีมาก แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น คุณก็เพียงแต่ชักชวนเพื่อนร่วมงานและจูงมือกันเข้ายิม จะฝึกมวยไทย เทควันโด คาราเต้ หรือบราซิลเลียนยิวยิตสู ฯลฯ อะไรก็ได้ที่คุณและเพื่อนใจตรงกัน มันจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ได้หลากหลายด้าน
และนี่คือ 3 เหตุผลและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เมื่อคุณได้เพื่อนร่วมงานมาฝึกศิลปะการต่อสู้ด้วยกัน
#1 พัฒนาความสัมพันธ์
กิจกรรมกลุ่มเป็นทางเลือกที่ดีเสมอในการสร้างความร่วมมือ ความสนิทสนมเปรียบเสมือนเส้นด้ายที่มองไม่เห็น เป็นเคมีที่จะช่วยให้แต่ละคนเข้ามารวมตัวกัน โดยเฉพาะพนักงานบริษัทหากต้องการดึงประสิทธิภาพการทำงานที่เหนือกว่าการทำงานตามลำพังออกมาให้ได้ จำเป็นต้องเสริมสร้างระดับขั้นของความสนิทสนมของสมาชิกในทีมให้ถึงจุดหนึ่งเสียก่อน
เนื่องจากศิลปะการต่อสู้ทำการฝึกแบบกลุ่ม จึงมีโอกาสมากที่คนจะได้ใช้เวลาร่วมกัน แชร์ประสบการณ์เดียวกัน คิดและทำในเส้นทางเดียวกัน และสร้างสัมพันธ์อันแข็งแกร่ง ทั้งยังช่วยให้เพื่อนร่วมงานบางคนยอมเปิดใจเล่าเรื่องต่างๆ ของตัวเอง ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งจะเป็นการขยายขอบเขตของมิตรภาพให้มากขึ้นกว่าการเป็นเพียงเพื่อนร่วมงานที่เจอกันเช้าไปเย็นกลับ
#2 กิจกรรมหลังเลิกงาน
หลังจากนั่งหลังขดหลังแข็งทำงานมาทั้งวัน ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในการทำงาน ระวังความเครียดจะค่อยๆ ถามมา ดังนั้นจึงต้องรู้วิธีจัดการกับมันซะแต่เนิ่นๆ
หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการบรรเทาความเครียด คือการออกกำลังกาย เพราะมันช่วยกระตุ้นให้ร่างกายได้รับพลังบวก การฝึกศิลปะการต่อสู้อย่างมีวินัยจะช่วยปลดปล่อยความตึงเครียดที่สั่งสมมาตลอดทั้งวันได้อย่างไม่น่าเชื่อ
การชวนเพื่อนเข้ายิม ไม่แตกต่างอะไรกับการชวนเพื่อนไปกินดื่มหลังเลิกงาน แต่แทนที่เราจะเสียเงินเสียเวลาไปกับการบั่นทอนสุขภาพร่างกาย การเข้ายิมและฝึกศิลปะการต่อสู้กลับทำให้เราได้สุขภาพร่างกายที่แข็งแกรง และยังได้วิชาในการป้องกันตัวเองกลับไปอีกด้วย
#3 เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือกัน
บางทีประโยชน์ที่สำคัญที่สุดในการฝึกศิลปะการต่อสู้กับเพื่อนร่วมงาน คือการพัฒนาทีมเวิร์ก ซึ่งเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นั่นคือการฝึกศิลปะการต่อสู้ให้สำเร็จ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเล่นเชิง หรือจับคู่ซ้อม จะทำให้ต่างฝ่ายต้องมีความเข้าใจ เชื่อใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อให้บรรลุภารกิจในการฝึกศิลปะการต่อสู้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันกัน
การฝึกตามลำพังย่อมมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการฝึกร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่นเดียวกับในที่ทำงาน หากพนักงานแต่ละคนเข้าใจบทบาทของตัวเอง และพร้อมที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในลักษณะการทำงานที่เป็นทีมเวิร์ก ก็จะทำให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ