“แสตมป์” พิสูจน์ฝีมือหญิงแกร่ง คว้ารางวัล “นักสู้ MMA หญิงยอดเยี่ยมประจำปี 2564”
ปี 2564 ถือเป็นปีแห่งบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของ “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” ในฐานะนักกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) จากนักมวยไทยที่ความรู้ในกีฬาประเภทนี้เป็นศูนย์ เธอค่อย ๆ เดินทีละก้าวโดยไม่เคยย่อท้อ จนวันนี้ เธอคือแชมป์เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ รุ่นอะตอมเวตหญิง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “เบอร์หนึ่ง” ของรุ่น วัน แชมเปียนชิพ จึงตัดสินใจยกรางวัล “นักกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) หญิงยอดเยี่ยมประจำปี 2564” ให้ แสตมป์ โดยไม่มีข้อกังขา
นักสู้สาวจากระยองวัย 24 ปี เคยผ่านจุดสูงสุดของเส้นทางอาชีพมาแล้วจากการคว้าเข็มขัดสองเส้นในกีฬามวยไทยและคิกบ็อกซิ่ง แต่หลังจากถูกระชากเข็มขัดไปจนไม่เหลือ เธอจึงตัดสินใจเลือกเดินในเส้นทางสายที่ 3 ในกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน โดยมีเป้าหมายที่จะได้ครองแชมป์ในประเภทกีฬานี้
นักสู้สาวจากระยองวัย 24 ปี เคยผ่านจุดสูงสุดของเส้นทางอาชีพมาแล้วจากการคว้าเข็มขัดสองเส้นในกีฬามวยไทยและคิกบ็อกซิ่ง แต่หลังจากถูกระชากเข็มขัดไปจนไม่เหลือ เธอจึงตัดสินใจเลือกเดินในเส้นทางสายที่ 3 ในกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน โดยมีเป้าหมายที่จะได้ครองแชมป์ในประเภทกีฬานี้
นับตั้งแต่ศึก MMA ครั้งแรกบนเวที ONE ในปี 2562 แสตมป์ แผ้วถางเส้นทางสายนี้ด้วยฟอร์มโดดเด่นโดยสั่งสมสถิติ 5 ไฟต์ไร้พ่าย แต่ แสตมป์ ต้องสะดุดเมื่อเธอลิ้มรสความพ่ายแพ้ครั้งแรกให้แก่เจ้าแม่อาร์มบาร์ชาวยูเครน “อาลีโอนา ราสโซฮินา” ในศึก ONE: UNBREAKABLE III เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ท่ามกลางกระแสดรามาว่า แสตมป์ แท็ปหรือไม่
ความพ่ายแพ้ครั้งนั้น กลายเป็นแรงผลักดันให้ แสตมป์ กลับไปฝึกปรือวิชาอย่างหนักเพื่อกลับมาสางแค้น อาลีโอนา เมื่อโอกาสอำนวย และแล้ววันที่รอคอยของ แสตมป์ ก็มาถึง เมื่อเธอได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 8 สาวแกร่ง ที่ได้ลงแข่งขันในศึก การต่อสู้แบบผสมผสานหญิงล้วนครั้งประวัติศาสตร์ “เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ รุ่นอะตอมเวตหญิง” และถูกประกบคู่กับอริเก่า อาลีโอนา ในรอบแรกของการแข่งขัน
นัดล้างตาของสองสาวระเบิดขึ้นในศึก ONE: EMPOWER เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กันยายน โดย แสตมป์ โชว์ให้เห็นทักษะเกมนอนที่พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และสามารถเบียดชนะคะแนนอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ ลอยลำเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ
ในรอบรองชนะเลิศที่จัดขึ้นในศึก ONE: NEXTGEN เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม แม้จะมีการเปลี่ยนคู่ชกกะทันหัน จากเดิมที่ แสตมป์ต้องเจอกับ “ซอ ฮี ฮาม” กลับต้องเผชิญหน้ากับ “จูลี เมซาบาร์บา” นักสู้มากประสบการณ์ในสาย MMA ที่เข้ามาเสียบแทน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะ แสตมป์ งัดเอาวิชามวยไทยที่ถนัดจัดการสาวแซมบาด้วยคะแนนเอกฉันท์ ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ
อีกเพียงเอื้อมมือ แสตมป์ จะแตะถึงแชมป์ เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ แต่เธอต้องเจอกับคู่แข่งสายแข็ง “The Indian Tigress” ริตู โฟกาต นักมวยปล้ำสาวขวัญใจแดนโรตีที่หลายคนมองว่ามีภาษีเหนือกว่าในเกมปล้ำที่อาจทำให้ แสตมป์ เสียเปรียบ แต่เป็นอีกครั้งที่ แสตมป์ โชว์ศักยภาพความเป็นนักสู้ MMA ได้อย่างน่าทึ่ง
แสตมป์ ช็อกโลกด้วยการจับ ริตู ล็อกคอด้วยท่า Triangle และพลิกไปล็อกแขนในท่าอาร์มบาร์ จนแชมป์มวยปล้ำอินเดียถอดใจต้องแท็ปเอาต์ ส่งให้ แสตมป์ คว้าเข็มขัดสีเงินมาพาดบ่าสมใจ
ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ แสตมป์ กลายเป็นแชมป์ MMA หญิงคนแรกของไทยและเป็นนักกีฬาคนแรกในประวัติศาสตร์ ONE ที่คว้าเข็มขัดแชมป์ในสามประเภทกีฬา มาถึงจุดนี้ แสตมป์ จึงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเธอคือนักสู้หัวใจแกร่งที่กล้าท้าฝันโดยไม่หวั่นต่ออุปสรรคใด ๆ สมกับรางวัลนักสู้ MMA หญิงยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม แสตมป์ ยังมีบททดสอบต่อไปรออยู่ในปี 2565 โดยต้องเผชิญหน้ากับ “Unstoppable” แองเจลา ลี แชมป์โลก ONE รุ่นอะตอมเวต ซึ่ง แสตมป์ จะได้โอกาสพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งว่าเธอเหมาะสมที่จะนั่งบัลลังก์ในฐานะแชมป์โลกคนใหม่หรือไม่
อ่านเพิ่มเติม:
- 10 คำถาม ยิงตรงทุกประเด็นกับ “แสตมป์” แชมป์เวิลด์ กรังด์ปรีซ์คนล่าสุด
- จากเส้นทางนักมวยไทย “แสตมป์” ฝึกแบบไหนถึงแกร่งได้ในสาย MMA
- “แสตมป์” คิดอย่างไรเมื่อ “แองเจลา” ไอดอลในดวงใจต้องกลายเป็นคู่ต่อสู้