จากเส้นทางนักมวยไทย “แสตมป์” ฝึกแบบไหนถึงแกร่งได้ในสาย MMA
เป็นที่รู้กันดีว่า “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” คือหนึ่งในตัวแม่ของทัพนักกีฬาชุด วัน ซูเปอร์ซีรีส์ (มวยไทย/คิกบ็อกซิ่ง) การันตีได้จากตำแหน่งแชมป์โลก ONE มวยไทยและคิกบ็อกซิ่ง ที่เธอเคยครอบครอง แต่วันนี้ เธอกลายเป็นแชมป์เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ รุ่นอะตอมเวตหญิง ซึ่งหมายถึงการเป็นเบอร์หนึ่งของกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ของรุ่นนี้
จากการเป็นนักมวยหญิงที่ไม่เคยมีความรู้เรื่อง MMA มาก่อน แต่สามารถขึ้นมานั่งแท่นแชมป์ MMA หญิงคนแรกของไทย แสตมป์ ทำได้อย่างไรและต้องฝึกซ้อมหนักแค่ไหน เธอจะมาเล่าให้ฟัง
#เริ่มจากศูนย์
เดิมทีทางค่ายแฟร์เท็กซ์ แห่งพัทยา ต้องการปั้นให้ แสตมป์ เดินทางสู่การแข่งขันการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) จึงได้จัดตารางการฝึกซ้อมมวยปล้ำ และ บราซิลเลียนยิวยิตสู (BJJ) ให้เธอมาตั้งแต่แรก โดย แสตมป์ ต้องเรียนรู้ท่าแต่ละท่าให้เข้าใจเสียก่อน และลงฝึกซ้อมกับโค้ชเป็นประจำทุกวันเพื่อจดจำท่าต่าง ๆ และสามารถทำได้อย่างชำนาญมากขึ้น โดย แสตมป์ ใช้เวลา 2 ปี ในฝึก MMA อย่างจริงจังจนกระทั่งมีศักยภาพมากพอที่จะลงแข่งขันได้
ทุกวันนี้ แสตมป์ ก็ยังต้องฝึกทั้งศาสตร์ MMA และ BJJ เป็นประจำวันทุกวัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงเช้าตั้งแต่ 8.30 น.- 10.00 น. จะเป็นการฝึก MMA และในช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 18.30 น.-20.00 น. จะเป็นคลาส BJJ
ปัจจุบัน “ดีเจ แจ็กสัน” เจ้าของตำแหน่งแชมป์ BJJ จากสหรัฐอเมริกา รับหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ประจำตัวคอยถ่ายทอดเทคนิค BJJ และ MMA ให้อย่างใกล้ชิด โดยเน้นการพัฒนาความแข็งแกร่งและแรงปะทะของ แสตมป์ โดยเทรนเนอร์ ดีเจ จะใช้วิธีให้ แสตมป์ ซ้อมปล้ำกับนักกีฬาชายที่ตัวใหญ่กว่า ซึ่งเราจะได้เห็นกันบ่อย ๆ ว่า แสตมป์ จะซ้อมปล้ำกับ “ยอดไก่แก้ว แฟร์เท็กซ์” ซึ่งเป็นคู่ปล้ำประจำตัวเป็นส่วนใหญ่
หลังจากที่ฝึกฝนด้วยความมีวินัยและความอดทนเป็นเวลารวมทั้งสิ้น 5 ปีในค่ายต้นสังกัด แสตมป์ สามารถพัฒนาทักษะ BJJ จากศูนย์จนได้เข็มขัดสีน้ำเงินซึ่งเป็นขั้นที่สองของระดับผู้ใหญ่ในปัจจุบัน
#ไม่ลืมรากมวยไทย
เพราะเกิดมาจาก มวยไทย แสตมป์ จึงไม่ลืมที่จะลับฝีมือและเชิงมวยไทยเป็นประจำทุกวันเช่นกัน โดย แสตมป์ มักใช้ทักษะมวยไทยที่ถนัดไปปรับใช้ในศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการเทกดาวน์ หรือการโจมตีด้วยหมัด เท้า เข่า ศอก ในเกมยืนอย่างที่เห็นเราได้เห็นในไฟต์ที่ผ่านมาของเธอ
แสตมป์ มีโปรแกรมการซ้อมมวยไทยในช่วงเวลา 14.30 น.- 17.00 น. เป็นประจำทุกวัน โดยจะมีการฝึกการออกอาวุธมวยไทยรวมทั้งการซ้อมล่อเป้าเพื่อเสริมทักษะในการชกมวยไทยและคิกบ็อกซิ่งไปในตัว
#สร้างความแข็งแรง
การวิ่งเป็นกิจกรรมพื้นฐานสำหรับนักกีฬาที่ต้องการสร้างความแข็งแรงให้กับการทำงานของหัวใจและร่างกายโดยรวมซึ่งจะส่งผลต่อการจัดการพละกำลังในการต่อสู้บนเวทีด้วย โดย แสตมป์ จะต้องออกมาวิ่งออกกำลังกายร่วมกับเพื่อนนักกีฬาร่วมค่ายเป็นประจำทุกวันในช่วงเวลาตั้งแต่ 6.00 น. ถึงประมาณ 8.00 น.
#เสริมสร้างกล้ามเนื้อ
อีกหนึ่งการฝึกซ้อมที่จำเป็นสำหรับนักกีฬาทุกประเภท คือการออกกำลังเสริมสร้างกล้ามเนื้อ แสตมป์ มีกระดูกมวยที่แข็งแรง ส่วนหนึ่งก็เพราะการฝึกประเภทนี้ ซึ่งจะทำเป็นประจำในช่วงเช้าของวันพุธ และวันเสาร์ โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ
- วันพุธ: เล่นเวต ยกน้ำหนัก เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อทุกส่วน
- วันเสาร์: เน้นบริหารร่างกายโดยรวม ทั้งแขน-ขา และการกระโดด
ทั้งหมดนี้คือกิจกรรมหลักที่แชมป์ MMA หญิงคนแรกของไทยต้องทำประจำตลอดหนึ่งสัปดาห์เต็ม โดยจะมีวันพักหนึ่งวัน คือวันอาทิตย์ และหากช่วงไหนที่มีกำหนดการแข่งขันที่ชัดเจน การฝึกซ้อมทั้งหมดนี้ก็จะเพิ่มความหนักหน่วงขึ้นเป็นสองเท่า
โดย แสตมป์ เผยว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ส่งให้เธอมาเอาดีในสาย MMA จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นแชมป์เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ได้ในที่สุดก็คือ ความอดทนและความมีวินัย
“MMA เป็นกีฬาที่ทุกคนสามารถฝึกฝนได้ค่ะ ไม่จำเป็นว่าต้องเก่งหรือต้องเรียนรู้เร็ว แต่ต้องอาศัยความขยันและอดทนในการฝึกฝนซ้ำ ๆ เพื่อให้ร่างกายจดจำและเกิดความชำนาญ และยังเป็นกีฬาที่รวมเอาศิลปะการต่อสู้หลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เราสามารถพลิกแพลงการต่อสู้ได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับไหวพริบปฏิภาณของเราเอง ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของ MMA ที่หนูชอบค่ะ”
แต่ แสตมป์ ยังคงไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะเป้าหมายต่อไปคือการคว้าแชมป์โลก ONE รุ่นอะตอมเวต ซึ่งจะทำให้เธอกลายเป็นแชมป์โลก ONE ใน 3 ประเภทกีฬาตามที่ตั้งใจ และเธอจะยังคงฝึกซ้อมต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายแม้จะต้องเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็ตาม
อ่านเพิ่มเติม: