ฉันอยู่นี่คู่แข่งที่รัก! “ริกะ” พร้อมชนตัวแม่อินโดฯ มิตรภาพไม่เป็นอุปสรรคบนสังเวียน
ในบรรดานักสู้หญิงของ วัน แชมเปียนชิพ กติกาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) รุ่นอะตอมเวต หนึ่งในนั้นเชื่อว่าหลายคนต้องนึกถึงชื่อของ “Tiny Doll” ริกะ อิชิเกะ เช่นเดียวกับนักสู้หญิงรุ่นเดียวกันอย่าง “Thathie” พริสซิลลา เฮอร์ตาติ ลุมบัน กาโอล์ ที่เธอยังนึกถึง ริกะ เสมอ ไม่ว่าจะในฐานะเพื่อนร่วมอาชีพที่สนิทสนม หรือแม้แต่ในฐานะคู่ต่อกรรายต่อไป
วัน แชมเปียนชิพ เคยประกบให้ทั้งคู่เจอกันมาก่อนหน้านี้ แต่มีอันต้องแคล้วคลาดกันเนื่องจาก พริสซิลลาได้รับบาดเจ็บระหว่างฝึกซ้อมจนต้องถอนตัว ซึ่งหากมีโอกาสเธอก็อยากลองพิสูจน์ฝีมือกับนักสู้สาวสวยลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นสักตั้ง ซึ่งด้าน ริกะ เองก็พร้อมที่จะรื้อฟื้นไฟต์นี้ขึ้นมาอีกครั้งเหมือนกัน
ริกะ และ พริสซิลลา ทั้งคู่รู้จักกันผ่านการเข้าค่ายกระชับมิตรภาพนักกีฬาของ วัน แชมเปียนชิพ ONE Elite Retreat ทั้งที่ ประเทศฟิลิปปินส์ และ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย
“ครั้งแรกที่เจอกัน พริสซิลลา ก็เข้ามาทักทาย ริกะ ก่อนเลย เธอเป็นคนนิสัยดีมากค่ะ เราสนิทกันอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น หากว่ามีโอกาสพบกันตามอีเวนต์ต่างๆ เราก็จะทักทายกันเสมอ” ริกะ บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของมิตรภาพกับเพื่อนนักสู้สาวชาวอินโดนีเซีย
“การเป็นเพื่อนกัน ไม่ได้ทำให้ ริกะ รู้สึกกดดันอะไรถ้าต้องเจอกันบนสังเวียน ริกะ แยกแยะระหว่างมิตรภาพกับการแข่งขันได้ เพราะหน้าที่และงานของเราคือการเป็นนักกีฬา กลับกัน ถ้าเราได้สู้กันมันต้องสนุกแน่ๆ ริกะ ว่ามันท้าทายดีค่ะ”
พริสซิลลา เป็นหนึ่งในนักกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน รุ่นอะตอมเวต เช่นเดียวกับ ริกะ ซึ่งด้วยอายุและส่วนสูงแล้ว คู่นี้มีความสมน้ำสมเนื้อ ใกล้เคียงกันจนแทบไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ
โดย พริสซิลลา มีดีกรีแชมป์โลกวูซู (ศิลปะการต่อสู้ของจีน) สองสมัย โดยผ่านการแข่งขันวูซูมา 20 ไฟต์ ก่อนที่จะต่อยอดสู่การต่อสู้แบบผสมผสาน และสั่งสมสถิติชนะ 7 แพ้ 4 ถือว่าเธอเป็นนักกีฬาสายยืนสู้ตัวฉกาจของอินโดนีเซีย
ขณะที่ ริกะ มีสถิติในกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน ชนะ 4 แพ้ 4 มีความเชี่ยวชาญเกมนอนสู้ และผ่านคู่แข่งมาแล้วหลายรูปแบบ
“สำหรับ พริสซิลลา เขามีประสบการณ์ในการแข่งขันมากกว่า ริกะ โดยเฉพาะในเกมยืนเขาแข็งแกร่งมาก และก็มีพัฒนาการในเกมนอนสู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ ริกะ ยังเชื่อว่า เรายังมีเกมนอนสู้ที่เหนือกว่า และสามารถใช้เทคนิคที่เรามี คุมเกมให้เหนือกว่า และหาโอกาสซับมิชชันเขาได้ค่ะ”
“ปกติ ริกะ จะเตรียมรับมือคู่ต่อสู้ไว้หลายแผน ไม่ว่าจะยืนหรือนอนสู้ ลูกเตะ ลูกถีบ ลูกทุ่ม มีหมดค่ะ แต่ด้วยการแข่งขันในบางครั้งจะอยู่ในเวทีชกมวย ที่ไม่ใช่สังเวียนกรง ทำให้ค่อนข้างเป็นอุปสรรคที่จะจับคู่ต่อสู้เทกดาวน์ เพื่อเล่นเกมนอนสู้ที่ ริกะ ถนัด”
เชื่อว่านักกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสานแทบทุกคนต่างก็ฝึกฝนมาจากสังเวียนกรง ริกะ ก็เช่นกัน เธอยอมรับว่าถนัดกับสังเวียนกรงมากกว่า ซึ่งหากเมื่อใดก็ตามที่สนามแข่งขันต้องเปลี่ยนรูปแบบไปก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการแพ้-ชนะได้เหมือนกัน
“การฝึกซ้อมและการเตรียมแผนไปรับมือกับคู่แข่ง ริกะ เตรียมไปอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่เมื่อถึงหน้างานจริง รูปแบบของสนามแข่งขันมันมีผลในเรื่องของศาสตร์การต่อสู้ที่เรานำมาใช้ เพราะกรงมันเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย มันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชนะได้ ก็มาจากการรู้จักใช้กรงให้เป็นนั่นเองค่ะ”
“ถ้าต้องสู้กับ พริสซิลลา ในสังเวียนกรง ริกะ เชื่อว่าจะสามารถใช้ศาสตร์หลายๆ อย่างเล่นงานเขาได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าต้องสู้กันในเวทีมวย และเขาก็แข็งในเกมยืนสู้ด้วย ริกะ ก็คงต้องหาทางแก้ โดยพยายามคุมพื้นที่ตรงกลางเอาไว้ให้ได้ ห้ามเข้ามุม หรือไปติดเชือกเด็ดขาด เพราะวิธีการใช้งานมันต่างกัน อย่างอื่นนอกจากนี้ ริกะ ไม่กังวลอะไร พร้อมที่จะเจอได้เสมอค่ะ”
อ่านเพิ่มเติม:
- ฮีโร่สาวอินโดฯ ขอเปิดศึก “ริกะ อิชิเกะ” คู่กันแล้วไม่ขอแคล้วกัน!
- “ริกะ” คิดแบบ “ไทเกอร์ วูดส์” มองข้ามช็อตส่งพลังบวกขึ้นสังเวียน
- Spotlight Sunday: 3 องค์ประกอบสำคัญที่บ่งบอกตัวตนของ “ริกะ อิชิเกะ”
- สวยระดับดารา!!! ทำไม “ริกะ อิชิกะ” จึงรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงกับการเป็นนักกีฬาการต่อสู้
- Movie Monday: 5 หนังโปรดกับ “ริกะ อิชิเกะ” แก้เหงายามเก็บตัวอยู่บ้าน