“ริกะ อิชิเกะ” วอน “เลิกบูลลี” หากใครโดน ต้องมีสติและปล่อยวาง
หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “บูลลี (Bully)” กันมาบ่อยๆ ซึ่งก็หมายถึง พฤติกรรมกลั่นแกล้ง รังแกด้วยวาจา หรือทำร้ายร่างกายผู้อื่นที่มีความอ่อนแอกว่า หรือการบังคับให้ผู้อื่นทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความไม่เต็มใจ
ในขณะที่สังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น “การบูลลี” จึงลุกลามขยายตามออกไป จนมีคำบัญญัติขึ้นมาใหม่ว่า “ไซเบอร์บูลลี (Cyber Bullying หรือ Online Bullying)” ซึ่งในราชบัณฑิตยสถานให้คำนิยามคำนี้ว่าคือ “การระรานทางไซเบอร์” ซึ่งถือเป็นการกลั่นแกล้ง “แบบไม่ต้องเปิดเผยตัวตน” เพียงใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต ฯลฯ ส่งข้อความ โพสต์ แชร์ข้อมูล วิพากษ์วิจารณ์ที่จงใจดูถูก เหยียดยาม ข่มขู่ ประจาน ล้อเลียน ด่าทอ ก่ออันตราย หรือมุ่งร้ายให้ได้รับความเสียหายหรือกระทบกระเทือนทางจิตใจ
โดย “หมอมินบานเย็น” พญ.เบญจพร ตันตสูติ แห่งเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขาได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดทีเดียว
#รอยยิ้มที่หายไปของซอลลี่เมื่อวานมีข่าวการเสียชีวิตของ เชวจินรี หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อว่า ‘ซอลลี่’…
Posted by เข็นเด็กขึ้นภูเขา on Monday, October 14, 2019
ความน่ากลัวของ “ไซเบอร์บูลลี” คือดีกรีการคุกคามที่รุนแรงกว่าการกลั่นแกล้งทั่วไปซึ่งต้องมีการเผชิญหน้า เพราะเมื่อไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน และเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่และเวลา มันจึงคืบคลานเข้าไปแม้แต่ในพื้นที่ส่วนตัวทางโลกออนไลน์ ที่ไม่มีทางเป็นพื้นที่ปลอดภัยจริงๆ และสามารถแพร่ขยายไปได้อย่างรวดเร็ว
“ริกะ อิชิเกะ” นักกีฬาสาวศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) เป็นคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของการไซเบอร์บูลลีอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเพราะเธอเป็นคนมีชื่อเสียงในวงการกีฬาการต่อสู้ และเป็นที่รู้จักในวงการบันเทิงจากการรับงานถ่ายแบบและออกรายการทีวี บวกกับความน่ารักสดใสและมองโลกในแง่ดี จึงทำให้มีแฟนคลับที่เข้ามาสมัครเป็นผู้ติดตามในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมจำนวนมาก ซึ่งกลายเป็นการเปิดโอกาสให้บรรดา “นักไซเบอร์บูลลี” ทั้งหลายแฝงตัวเข้ามาด้วยความไม่ปรารถนาดี
หลังจากเกิดกรณีนักร้องสาวชื่อดังชาวเกาหลีใต้ “ซอลลี” เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 25 ปีจากการไซเบอร์บูลลี ล่าสุด ริกะ เองซึ่งตกเป็นหนึ่งในเหยื่อ จึงโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัว เพื่อระบายความในใจและชี้ให้เห็นถึงวิธีการรับมือกับพวกบูลลีในแบบของเธอ
(ภาษาไทยด้านล่างน้าาาา)Dear Haters ,Actually I never angry or mess up on you guys if you say like,, I'm not good…
Posted by Rika "Tiny Doll" Ishige / ริกะ อิชิเกะ on Monday, October 14, 2019
จากข้อความในโพสต์ของ ริกะ สรุปได้ว่าเธอมีวิธีจัดการกับข้อความต่างๆ ที่เข้ามารบกวนจิตใจด้วย “การปล่อยผ่าน” ไม่อ่าน ไม่สนใจ เพราะเชื่อว่าไม่ได้เกิดจากความหวังดี และไม่มีผลกระทบทำให้ชีวิตของเธอดีขึ้นหรือแย่ลง แต่หากเป็นการเข้าใจผิด ริกะ จะใช้วิธีตอบโต้ด้วยการชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับเรื่องนี้ “นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยถึงพิษภัยของการระรานทางไซเบอร์ว่าอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเหยื่อ ตั้งแต่ระดับที่ทำให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และอาจรุนแรงขึ้นถึงขั้นเป็นปัญหาสุขภาพจิตตามมา เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือมีความคิดอยากตาย ฯลฯ อีกทั้งในบางรายอาจเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นแกล้งคนอื่น คล้ายกับที่ตัวเองเคยโดนแกล้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และความสามารถในการรับมือของเหยื่อด้วย
พร้อมกันนี้ยังได้แนะนำวิธีรับมือการถูกระรานทางไซเบอร์ไว้ 5 ขั้นตอนกล่าวคือ (1) อย่าตอบสนองข้อความกลั่นแกล้ง (2) ไม่เอาคืน (3) เก็บหลักฐาน (4) รายงานความรุนแรง และ (5) ตัดช่องทางการติดต่อ
จะทำอย่างไรเมื่อคุณถูกระรานในโซเชียล #cyberbullying#กรมสุขภาพจิต #สายด่วนสุขภาพจิต1323
Posted by กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข on Tuesday, October 15, 2019
ถึงตรงนี้เชื่อว่าทุกคนคงต้องปรับตัวให้อยู่บนโลกออนไลน์ เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ซึ่งอาจมีการบูลลีผ่านเข้ามา แม้จะไม่ต้องการให้เกิดขึ้นก็ตาม เราจึงจำเป็นต้องฝึกสภาพจิตใจให้ “สตรอง” เข้าไว้ และรู้วิธีจัดการกับพวกบูลลีขี้แกล้งให้ได้
เช่นเดียวกับที่ “ริกะ อิชิเกะ” ฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ และเกิดผลพลอยได้ทำให้เธอมีสติ สมาธิ รู้จักการยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์ได้ และมีจิตใจที่เข้มแข็ง ใครจะนำเทคนิคนี้ไปใช้ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
อ่านเพิ่มเติม: ชีวิตสุดอาภัพของ 3 นักสู้ไทยที่ถูกรังแกเมื่อวัยเด็ก